วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2551

คุณูปการของโต๊ะอาหาร

ท่ามกลางเสียงอื้ออึงดังระงมของอึ่งอ่างในสวนหน้าบ้านยามค่ำคืนหลังสายฝน ลมเย็นชื้นโชยผ่านยังปลายเท้าฉันอย่างแผ่วเบา ขณะที่กำลังก้มๆเงยๆนั่งเขียนบทความอยู่ตามลำพัง ใต้โคมไฟที่ยังคงไสวเพียงดวงเดียวกลางดึก ช่วยให้รอบกายแลดูมืดขึ้นมาถนัด แสงสีนวลตาสาดตรงมายังกลางโต๊ะไม้วงรีขนาดใหญ่ที่พะเนินไปด้วยหนังสือ พจนานุกรม กระจัดกระจายด้วยเอกสาร ยางลบ ดินสอ กระดาษ ไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ก่อนที่ทุกคนจะหลับใหลกันหมด มันเป็นโต๊ะที่อวลฟุ้งด้วยกลิ่นของน้ำพริก กรุ่นไออุ่นข้าวเพิ่งสุกใหม่ ละลานตาด้วยกับแกงหลากสีหลายรส และอึงมี่นี่นันด้วยเสียงของพ่อแม่ลูก ประชันเสียงฝนที่โยนตัวปะทะพื้นคอนกรีต


ทุกๆมื้อเย็น พ่อแม่และพี่ชายฉันจะมารวมตัวกันยังโต๊ะอาหารอย่างพร้อมเพรียง ทุกคนต่างหอบเรื่องราวนอกบ้านที่ผ่านมาทั้งวันมาเล่าสู่กันฟัง แลกเปลี่ยน นินทา บางทีก็หยิบมาเป็นประเด็นทะเลาะถกเถียงกัน บางครั้งคราวที่จะไม่ค่อยได้พูดคุยกันระหว่างมื้อเพราะยกสำรับมากินหน้าโทรทัศน์กัน แต่โต๊ะอาหารก็ไม่เคยว่างเว้นจากกลิ่นข้าวสวย คราบกรังของน้ำพริกน้ำแกง รอยน้ำเป็นวงกลมจากก้นแก้ว และเสียงพูดคุย ฉันจึงได้ทำความรู้จัก นิสัยใจคอเพื่อนแม่ ลูกน้องพ่อ เจ้านายพี่ ใครต่อใครมากมาย ไปจนถึงสภาพสังคม การเมือง จราจร สถานที่ต่างๆ และเรียนรู้หลักการวางตัวเพื่อไม่ให้เป็นขี้ปากให้นินทาบนโต๊ะอาหารของคนอื่น


โต๊ะอาหารของฉันจึงเป็นโรงเรียนเล็กๆที่สอนวิชา สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและสร้างเสริมลักษณะนิสัย


สำหรับเรื่องกินแล้ว ครอบครัวฉันถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ฉันว่าครอบครัวคนอื่นก็คงเหมือนกัน เพราะถึงวันอาทิตย์ วันหยุดราชการทีไร ตามห้างสรรพสินค้าเนืองแน่นไปด้วยพ่อแม่จูงลูกอุ้มหลานยืนต่อคิวหน้าร้านอาหาร ที่บ้านฉันก็เช่นกันยิ่งพอเป็นวันเกิดใคร ครบรอบอะไร หรือฉลองเนื่องในโอกาสใด ก็มักป้วนเปี้ยนอยู่แต่เรื่องกินดื่มทั้งนั้น ไม่ยกโขยงไปกินข้าวนอกบ้านก็ซื้ออะไรอร่อยๆที่ไม่ได้กินกันบ่อยเข้ามากินในบ้าน แต่ไม่เคยฉลองอะไรด้วยการไดหญ้า ขัดส้วม ล้างรถ ตีปิงปอง หรือ ร่วมฟังเสวนาวอชาการตามมหาวิทยาลัย แต่เรื่องกินกลับเป็นเรื่องอันดับต้นๆของสมาชิกในครอบครัวที่นึกถึง เวลาต้องการสร้างความทรงจำร่วมกัน หรือ เพื่อบอกถึงระบบความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่


เวลากลับบ้านต่างจังหวัดญาติฉันก็จะมานั่งกินข้าวล้อมสำรับอาหารที่ปูบนกระดาษหนังสือพิมพ์กันเป็นวงกลม ต่างคนถือจานข้าวของตัวเอง จึงไม่มีใครอยู่หัวหรือท้าย ทั้งหัวหงอกหัวดำหัวโล้น ไปจนถึงหัวแกละหัวจุกนั่งรวมกันไปหมด


...การกินจึงกลายเป็นกลไกสร้างเสถียรภาพให้กับสถาบันครอบครัวโดยบัดดล...


ฉันท่องจำมาตลอดตั้งแต่ชั้นประถมแล้วว่าคำว่าครอบครัว ในภาษาอังกฤษคือ family คำๆนี้เริ่มใช้ในช่วงจักรวรรดิโรมัน ซึ่งเป็นคำเดียวกับคำที่มาจากคำละตินที่แปลว่า ทาสจำนวนมากมายที่อยู่ใต้การดูแลของผู้ชายเพียงคนเดียว Familia ซึ่งเป็นคำเรียกกลุ่มสังคมแบบใหม่ในสมัยโรมันที่ ผู้ชายเป็นจ่าฝูง แล้วมีเมียและลูกรวมไปถึงทาส อยู่ใต้การบังคับบัญชา


สถาบันครอบครัวเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีพ่อแม่ลูก ซึ่งเกิดขึ้นมาในสมัยโรมันที่ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าผู้หญิงหลังจากที่ผู้ชายรู้ว่าการที่เอาจู๋ไปจิ้มจิ๋มนั้นก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ผู้ชายจึงเข้าครอบครองผู้หญิงให้เป็นสมบัติของตนเชียวเดียวกับเด็กที่เกิดออกมา เพราะถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการดำรงชีพ


บรื๋ออส์!!! สถาบันfamily น่ากลัวจริงๆ


แม้จะมีบางคนหัวใสพยายามสร้างความหมายใหม่ให้กับ family โดยบอกว่าเป็นอักษรย่อจาก ประโยค Father And Mother, I Love You. อุแม้เจ้า ! ฟังดูแล้วอบอุ่น กรุ่นไอรัก พร้อมหน้าพร้อมตา ชวนให้อยากมีครอบครัวตามไปด้วย แต่มันก็เป็นเพียงค่านิยมของสังคมเมือง มีนัยยะครอบครัวเดียว และปราศจากการนิยาม ตัวตนของเด็กกำพร้าพ่อ พ่อหม้ายลูกติด คุณแม่ยังโสด คู่ผัวตัวเมียที่ใครสักคนเป็นหมัน รวมไปจนถึงคู่รักเพศเดียวกัน ฉันเดาว่าคนคิดคงได้รับอิทธิพลหลังการเกิด องค์กร NATO OPEC AFTA UN มาแล้ว จนสถาบัน family มีที่มาคล้ายๆ OTOP พิกล


แต่สำหรับภาษาไทยแล้ว คำว่าครอบครัว ดูเหมือนว่าจะพิสมัยแต่เรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ แม้แต่คำว่า “ครอบครัว” “ครัวเรือน” ก็วนเวียนไปมาในห้องครัว การประกอบอาหาร


ทุกมื้อเย็นที่เราประจำที่โต๊ะกับข้าว ภาพที่ฉันเห็นจนชินตาคือพ่อจะเป็นผู้นั่งเก้าอี้หัวโต๊ะเสมอ ส่วนเก้าอี้ที่เหลือแม่ พี่และฉันเลือกนั่งกันเองแล้วแต่สะดวก คล้ายกับเป็นวัฒนธรรมย่อยๆในครอบครัวที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ฉันจำความได้ มีอยู่วันหนึ่ง สมัยเรียนประถม 3 – 4 เห็นจะได้ ฉันลองไปนั่งที่หัวโต๊ะดูบ้าง อยากรู้จังว่าถ้ามองจากมุมนั้นอาหารมันจะน่ากินสักแค่ไหน แต่ไม่ทันได้กินอะไร ก็โดนแม่ไล่ให้ไปนั่งเก้าอี้อื่นเสียก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเสาหลักหาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวมีกินมีดื่มได้ทุกวันนี้ ควรนั่งหัวโต๊ะ หลังจากนั้นทุกครั้งที่ทานข้าวร่วมกัน ฉันจึงไม่คิดที่จะนั่งหัวโต๊ะอาหารอีกเลย ปล่อยให้เก้าอี้หัวโต๊ะกับข้าวนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำตำแหน่งผู้นำครอบครัวไป


มิน่าล่ะ การกินจึงมีความสำคัญต่อสถาบันครอบครัว เพราะมันจะค่อยๆสร้างสำนึกของสมาชิกในสังคมละนิดทีละมื้อ ให้สำเหนียกฐานะของตนบนสังคมชนชั้นและระบบอาวุโสนิยมอันเป็นโครงสร้างของสังคม


ตามบันทึกของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวถึงวัฒนธรรมการกินของชาวสยามไว้ว่า โดยปรกติหัวหน้าครอบครัวคนที่เป็นพ่อหรือผัวจะกินก่อนเพียงลำพัง พออิ่มแล้วเมียจะเข้ามานั่งกิน หลังจากกินเสร็จพวกลูกๆ10-15 คน จะตามมากินทีหลัง หลังจากนั้นบ่าวไพร่จะเก็บส่วนที่เหลือไปกิน ซึ่งน่าจะเป็นสังคมของผู้ดีมีฐานะมีลูกมากและทาสรับใช้ไว้ปกครอง


แต่สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกับวัฒนธรรมการเป็นอยู่ ยิ่งในสังคมเมืองที่ต้องเร่งรีบ ใช้ชีวิตภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก ลำดับก่อนหลังในการกินที่เรียงตามอาวุโสจึงเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เข้ากับบริบทสังคมเมือง


เมื่ออิทธิพลสมัยใหม่นิยมจากตะวันตกเข้ามา สังคมเมืองเริ่มเป็นครอบครัวเดียวกันมากขึ้น มีระบบกฎหมายเป็นผัวเดียวเมียเดียว ยิ่งไม่ได้มีพื้นฐานการผลิตแบบเกษตรกรรม ลูกหลานก็ไม่มากอย่างในอดีต การรู้จักมักคุ้นกับญาติผู้ใหญ่น้อยลง พบปะกันน้อยครั้ง สำหรับครอบครัวฉันปีละครั้งเห็นจะได้ หากมากกว่านั้นก็ จะเจอในงานศพ หรือ งานแต่ง มากกว่า


ความเข้มข้นของระบบอาวุโสนิยมและอำนาจของหัวหน้าครอบครัว จึงเข้มข้นไม่เท่ากับสังคมชนบท เพราะวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาแทนที่


แต่ฉันเห็นว่าไม่น่ากังวลอะไร เพราะตะวันตกก็ยังมีโต๊ะอาหารและวัฒนธรรมการนั่งหัวโต๊ะ ที่เป็นเครื่องมือรักษาความมั่นคงให้กับระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของหน่วยเล็กของสังคมโดยเฉพาะสังคมเมือง ให้สมาชิกในสังคมยอมรับถึงความแตกต่างของคุณค่าความเป็นคน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะขับเคลื่อน ความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ การใช้อำนาจ บนสังคมกระฎุมพีสืบไป