วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ตอบจดหมายจากแดนไกล


To my dear
I was very glad to read e-mail all time I wonder that you love me or not but after I departure to Japan I know you love me too.Now I use internet at internet cafe sorry for not call to u for chat. Today I very lonely in hotel and miss u so much I want you beside me. You know 52 days to leave away from my love is lonely and hard to explajn. I can't tell u I'm miss u and lonely much more when stay without you. Ok it's time to sleep, wish you have good dream and thinking of me na krab. Know I love u always. take care yourself and miss me.
Your babe

Fukuoka Japan


---------------------------
ที่รัก


ฉันก็คิดถึงคุณมากๆเหมือนกัน จากที่อ่านเมล ทำให้ฉันคิดอะไรออก อย่างหนึ่งคือ
ภาษาไทยมีปัญหาในการอธิบายความรู้สึกออกมาให้ฟังดูไม่เลื่ยนเอียน การที่ใช้ภาษาอังกฤษทำให้ความรู้สึกเวลาอ่านมันromanticizedมากกว่า ภาษาไทย

จะบอกว่า " การอยู่ห่างๆคนรักมันช่างเปล่าเปลี่ยว และยากเกิดจะอธิบายได้ " ( to leave away from my love is lonely and hard to explain ) มันดูเก่า เชย พ้นสมัย มากกว่าภาษาอังกฤษเป็นไหน ด้วยเหตุนี้ฉันจึงรู้สึกว่า ภาษาอังกฤษสมควรเป็นภาษาสากลมากกว่า ไม่ใช่เพราะการล่าอาณานิคมอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความลื่นหูของภาษาด้วยว่าไหม

อย่างคำว่า love เรามักเห็นเด็กมือบอนเขียนหลังเบาะรถเมล์มากกว่าคำว่า "รัก" ทั้งที่เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่นิยมใช้ภาษาอังกฤษเท่าคนมือไม่บอน แต่คำว่า love มันน่าอ่านน่าเขียน และให้ความรู้สึกละมุนละไมมากกว่า อันนี้ฉันว่าไม่น่าจะใช่ว่าเราต้องแปลมันอีกทอดหนึ่งหรอกนะ

แต่คำว่า “รัก” โดดๆ มันช่างดูเเข็งทื่อ เหมือนถูกแช่เย็น เหมือน ฉากเข้าพระเข้านางในละครหลังข่าวช่อง7สี ยังไงยังงั้น

ด้วยเหตุนี้เองมั้งที่รักอยู่ตัวโดดๆ ในmessage ไม่ได้ ต้องมีคำขยาย อย่าง “รักนะ จุ๊บๆ” หรือ “รักนะ เด็กโง่” ที่วัยรุ่นชอบใช้กัน

เหมือนหนังต่างชาติเรื่องอะไรที่เข้ามาในไทย ที่มักจะเป็นคำเดียว แต่มักจะถูกแปลออกมาเป็นวลี เป็นประโยค เพื่อความเข้าใจในบุคลิกของหนัง มากกว่าจะเป็นคำไม่กี่พยางค์ลอยๆ เราจึงดูหนังเรื่อง Prestige ในนามของ “ศึกมายากลหยุดโลก” และอยู่ในคอนโดที่ชื่อ The Room ไม่ใช่ “ห้อง”

ที่ฉันร่ายยาวอย่างนี้ เพราะไม่รู้จริงๆว่าจะพรรณนาความรู้สึกของตนเองออกมาเป็นภาษาไทย ให้มันไม่เลี่ยนเอียนยังไง แต่ฉันก็ไม่สามารถเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ยืดยาว เพราะไม่เก่งพอ เพราะฉะนั้น การเพ้อเจ้อเรื่อยเจื้อยของฉัน จึงเป็นการระบายความคิดถึงที่มีต่อคุณที่ง่ายที่สุด
รักและคิดถึงมากกกกก...
ที่รักของคุณ

สยามประเทศ


ปล. ถ้าถึงประเทศไทยแล้วกลับมาบ้านเรา ซื้อแปรงสีฟันอันใหม่ด้วยนะ เพราะแปรงของคุณ ฉันเอามาใช้แปรงฟันตัวเองเรียบร้อยเเล้ว เพราะไม่รู้จะทำยังไงดีที่จะรู้สึกว่ามี"ของ"คุณอยู่ในปากฉัน

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“การเปลี่ยนแปลงสังคม ความสุข และ ศาสนา”

“ความสุขและการเปลี่ยนแปลงสังคม” ฉันนั่งทบทวนชื่อหัวข้อที่จะต้องเขียน วกไปวนมา8-9 เที่ยว เกี่ยวกับ ทั้ง 2 คำว่ามันสัมพันธ์กันหรือขัดแย้งกัน

ถ้าให้คิดง่ายๆ ตามสไตล์ยัปปี้ การเปลี่ยนบรรยากาศเปลี่ยนแหล่งนัดพบเพื่อนฝูงหรือร้านกาแฟหลังเลิกเรียนเลิกงานย่อมดีกว่าอยู่กับแหล่งเดิมๆซ้ำซากจำเจ การเปลี่ยนมือถือบ่อยๆก็ย่อมนำมาซึ่งความพึงพอใจมากกว่าใช้เครื่องเดิมๆ การใส่เสื้อผ้าใหม่ๆ เปลี่ยนทรงผมอยู่เสมอย่อมได้รับคำชมและความสนใจกว่า และถ้าหากเชื่อตามนักสถิติ เกี่ยวกับอัตราการย้ายถิ่น ที่ผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ย่อมย้าย เพื่อการเป็นอยู่ที่ดีกว่า อุดมสมบูรณ์กว่า รายได้ที่ดีกว่า คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ความขัดแย้งทางการเมืองหรือสงครามน้อยกว่า เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นฉนวนนำความสุข

เช่นเดียวกับครอบครัวฉันที่พ่อกับแม่ย้ายทะเบียนบ้านจากชนบทที่รายได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาวะทางธรรมชาติ ที่มีความพอเพียงเฉพาะพอกินแต่ไม่พอเก็บเผื่อลูกๆในอนาคต มาทำงานที่รายรับสูงกว่ามั่นคงกว่า ในเมืองที่มีรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เมืองที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศให้ลูกๆได้เล่าเรียน เมืองที่น้ำไหลไฟสว่างกว่า เมืองที่เข้าถึงความรู้และทรัพยากรต่างๆของโลกอย่างง่ายดายกว่า เมืองที่เดินเหินในยามคืนค่ำโดยไม่ต้องกลัวงูเงี้ยวเขี้ยวขอทำอันตราย เมืองที่หาและเปลี่ยนคู่นอนได้สะพรัดกว่า เมืองที่เมื่อยามป่วยไข้ไม่ต้องพึ่งผีสางและความศรัทธา เมืองที่ความตายไม่ได้มาจากผีแม่ม่ายหรือเจ้าป่าเจ้าเขา เมืองที่ไม่ได้เป็นที่สิงสู่ของผีเปรตเจตภูต ทว่าเต็มไปด้วยเทพเทวดา อย่างกรุงเทพมหานคร

ครอบครัวฉันไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่สถานที่ ย้ายมาอยู่ในย่านที่ไม่เคยทุกข์ระทม โศกาอาดูร อย่าง “อโศก” แต่ยังเปลี่ยนแปลงรูปแบบของครอบครัวอีกด้วย จากครอบครัวขยายมาสู่ครอบครัวเดี่ยว ซึ่งมันไม่ได้ก่อให้เกิดความทุกข์แต่อย่างใด ซ้ำกลับเข้าได้ดีกับบริบทของสังคมที่ฉันอยู่ สังคมที่องค์ความรู้และทรัพยากรที่สำคัญไม่ได้อยู่ติดบ้าน แต่กลับอยู่บนพื้นที่สาธารณะ ต้องอาศัยการเดินทางผ่านฝูงชนมากมายคลาคล่ำ ด้วยเวลาที่เร่งรีบ การยกโขยงกันไปทั้งครอบครัวใหญ่ มีสมาชิกหลายๆคน ทั้งคนเฒ่าคนแก่ติดสอยห้อยตามไปด้วย ย่อมเป็นอุปสรรคในการเข้าถึง อีกทั้ง การที่มีญาติผู้ใหญ่อย่าง ตายาย ลุงป้าน้าอา มาอยู่ในบ้านการจะจิกใครสักคนที่เพิ่งไปเจอกันตามผับบาร์มาหลับนอนด้วย ย่อมเป็นไปได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ฉะนั้นอดีตครอบครัวขยายแบบฉันจึงมักกลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อไปพบญาติๆเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่หรือวันหยุดยาวๆ และกิจกรรมที่มักประกอบร่วมกันเพื่อสร้างความทรงจำร่วมตามสถาบันครอบครัวในอุดมคติเกษตรกรชาวพุทธก็คือ การไปทำบุญที่วัด ไม่ว่าจะทำบุญถวายพระ หรือผีบรรพบุรุษก็ตาม

หลังจากที่เราถวายสังฆทานและฟังพระสงฆ์ท่องบ่นบาลีที่ทั้งฟังและแปลไม่รู้เรื่อง ( ซึ่งช่วยให้แลดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเยอะ ) เจ้าอาวาสก็ถามพ่อแม่ฉันว่า “โยมเป็นอย่างไรบ้าง ไปอยู่กรุงเทพ สุขสบายดีไหม” พระปุจฉาด้วยคำถามคล้ายๆ How are you ? ของชาวตะวันตกคริสเตียนผิวขาว ฉันได้แต่สงสัยว่าพระสงฆ์รูปนี้ สังกัดศาสนาอะไร ศาสดาของเขาเองบอกอยู่โทนโท่ว่า สรรพสิ่งเกิดมาเพราะมีกรรมยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ทุกชีวิตจึงล้วนเป็นทุกข์

ฉันเกิดมาในครอบครัวพุทธศาสนาที่เชื่อว่าศาสนิกทั้งหลายเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม ซึ่งเองฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไปสร้างวีรกรรมวีรเวร ก่อหนี้ก่อกรรมกับใครไว้เมื่อไร แต่โชคดีที่ศาสนานี้ให้คำตอบแบบเข้าใจง่ายว่า “เมื่อชาติที่แล้วของเอ็งไง” แล้วชาติที่แล้วฉันเกิดเป็นอะไร “ ชาติที่แล้วแอบเกี้ยวพาราสีพลอดรักกันในวัด ชาตินี้เลยอาภัพเรื่องผู้ชาย” “ชาติที่แล้วของฉันสมัยไหนเจ้าคะ สมัยมีรัฐชาติหรือยัง หรืออยู่ในสมัยที่ยังไม่มีชนชั้นกลาง เท่าที่รู้มาวัดเป็นพื้นที่พบปะผู้คนในชุมชน วันสงกรานต์วันลอยกระทง เขาก็ให้หนุ่มสาวได้มาพบปะทำความรู้จักกันภายใต้การควบคุมสอดส่องของผู้ใหญ่และศาสนาไม่ใช่หรอคะ ถ้าไม่ให้อิฉันเล่นหูเล่นตาหาหนุ่มๆในวัด แล้วจะรอให้มันมาดักปล้ำกลางทางระหว่างไปทุ่งอย่างเดียวรึไงเจ้าคะ ” เรื่องเถียงพระสงฆ์องค์เจ้าไม่มีใครเกินฉันหรอก

จนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว ที่เวลาไปวัด ฉันมักถูกพระทักไปต่างๆนานว่า เมื่อชาติก่อนฉันเคยเป็นไพร่บ้าง เป็นทาสบ้าง เป็นเมียทหารพระเจ้าตากที่ช่วยพระองค์ในการหลบหนีไปบวชที่ถ้าเขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราชบ้าง เป็นนางฟ้าบนดาวดึงส์ที่ถูกสาปบ้าง ทำไมไม่เคยมีใครทักว่าชาติที่แล้ว ฉันคือมาดาม มารี คูรี่ ซีโมน เดอร์ โบวัว ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ เมียลับๆของเลนิน ไม่ก็ลูกสาวหัวหน้าเผ่าอินคาที่มาชูปิคชูบ้างเลย

แต่เรื่องที่ไม่ปรกติ ( สำหรับฉัน ) คงจะเป็น “สุขสบายดีไหม” ของเจ้าอาวาสนี่แหละ ที่เล่นเอาฉันฉงน ทุกข์ใจมากกว่าเดิม หรือว่าบางที่พระรูปนี้อาจจะเป็นพุทธศาสนา นิกาย modernism ที่ชอบการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลง การปฏิวัติ จะนำมาซึ่งความเจริญ รุ่งเรื่อง และอะไรใหม่ๆซึ่งย่อมดีกว่าของเก่าๆ
แต่สำหรับศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิกายเถรวาท นิกายที่ยึดถือวาทะของเถระ เชื่อตาม “คำสั่ง” และ “คำสอน” ของพระอาวุโส ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามสภาพและบริบทของสังคม เพราะการแก้ไข เปลี่ยนแปลงวาทะของเถระในอดีต ไม่เพียงแต่เป็นการลบหลู่คำสั่งสอน แต่ยังทำให้คำสอนนั้นเสื่อม และนำไปสู่ความเรียวลงของศาสนา

ยิ่งการแปรเปลี่ยน ความไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง การไม่สามารถคงทนอยู่ได้ เป็นทุกขัง ฉะนั้น การดับทุกข์และตัดสายธารแห่งความเสื่อมที่ประสิทธิผลที่สุดก็คือ การไม่พยายามเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เท่ากับ การนิพพาน ที่ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เปลี่ยนชาติภพไปเรื่อยเปื่อย กลายเป็นอนัตตา ที่ปราศจากตัวตน

ธรรมะ วิชาความรู้ และระเบียบวินัย ( Discipline ) ของพุทธจึงถูกสถาปนาให้เป็นสิ่งสากล ธรรมะกลายเป็นสิ่งเดียวกับธรรมชาติ เป็นความจริงสูงสุด ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เสมือนนิพพาน disciplineแบบนี้จึงไม่ต่างไปจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นชุดความรู้ที่ถูกเปล่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นวิชาที่ผีมอบให้หรือศาสตร์ที่เทวดาประทานมา และเป็นหลักธรรมที่อริยบุคคลชนชั้น “เจ้า” ที่ปลีกวิเวกนั่งหลับตาให้ต้นไม้แล้วเกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาเอง

ความรู้แบบพุทธ จึงเป็นความรู้ที่ไม่สามารถสืบหาแหล่งที่มาหรือเอกสารอ้างอิงได้ และยิ่งเมื่อเชื่อว่า ความรู้สูงสุดคือความว่างเปล่าไม่มีตัวตน ก็ยิ่งทำให้ความรู้นั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ เมื่อตรวจสอบไม่ได้ ความรู้นั้นจึงไม่โปร่งใส คลุมเครือ ยากแก่การเข้าถึง ด้วยเหตุนี้ ตลอด2550 กว่าปีที่ผ่านมา เราจึงมีอริยบุคคลเพียงคนเดียวที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้นั้นได้ก็คือคนเดียวกับที่ผลิตความรู้นั้นขึ้นมา

การสร้างหอไตรกลางบ่อน้ำ จึงไม่เพียงแต่จะป้องกันความรู้จากอัคคีภัยและแมลงกัดแทะ แต่ยังป้องกันไม่ให้คนได้เข้าถึงอีกด้วย
ความรู้ทางศาสนาถูกวางให้พ้นมือศาสนิก อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ยากแก่การเข้าถึง ช่วยทวีความไม่โปร่งใสให้ดำมืดลึกลับน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงช่วยให้ความรู้ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ลอยตัวอยู่เหนือสรรพสิ่ง มีเสถียรภาพไม่ถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลง

ทั้งที่จริงแล้ว ทุกศาสนาล้วนถือกำเนิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลง เพราะอย่างน้อยที่สุด บรรดาศาสดาทุกคนต่างก็พยายามปฏิวัติสังคมด้วยการป่าวประกาศทฤษฎีแนวคิด “ใหม่ๆ” ในยุคสมัยนั้น และหาศิษย์และสาวกเพื่อเป็นกองกำลังหนุนให้กับวาทกรรมของตน อีกทั้งศาสนาเองก็มีกำเนิดมาจากการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เมื่อมนุษย์เริ่มเพาะปลูก แทนการเก็บของป่าล่าสัตว์ ทำให้มนุษย์เริ่มมีศาสนา ฉะนั้น ศาสนาจึงมีฐานะไม่ต่างไปจากความทุกข์มากนัก เพราะต่างก็เป็นประดิษฐกรรมแห่งการเปลี่ยนแปลง
การเพาะปลูกไม่ได้ทำให้มนุษย์ได้แค่พืชผล แต่ยังทำให้มนุษย์ได้หน้าที่ใหม่คือการผลิต ทั้งการผลิตพืชผัก และการผลิตแรงงานในการผลิตพืชผัก หรือจะพูดง่ายๆคือ การร่วมเพศกัน เพื่อให้เกิดลูกออกหลานช่วยกันทำไร่ไถนาแต่ถึงกระนั้นศาสนา ที่ถือว่าเป็นผลผลิตจากการที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกเหมือนกันก็ไม่ได้พิสมัยกับการผลิตประเภทนี้เท่าไรนัก

เพราะศาสนาถือว่า การร่วมเพศความกำหนัดเป็นโลกียอารมณ์กิเลสตัณหา ต้นเหตุแห่งความเสื่อม ทำให้ “ร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ” อีกทั้งยังก่อให้เกิดชีวิต ที่ชีวิตล้วนแล้วแต่มีทุกข์ มีเวรมีกรรม ถึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา และเมื่อการดับทุกข์ทางศาสนาก็คือ นิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นอนัตตา เป็นความว่างเปล่า ที่ไม่มีชีวิตตัวตนดำรงอยู่ ซึ่งการงดร่วมเพศก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะไม่ต้องให้มนุษย์เกิดขึ้นมารับทุกข์เข็ญอีก
แม้ศาสนาจะไม่ถูกกันกับการผลิต แต่กลับสนิทสนมและไปกันได้ด้วยดีกับชนชั้นเจ้า ที่เสมือนพี่น้องคลานตามกันมากับศาสนา เพราะระบบชนชั้น นักปกครองและผู้ปกครอง ล้วนถือกำเนิดมาจากการเกษตรเช่นเดียวกัน เนื่องจากมนุษย์มีการเพาะปลูก ต้องเร่งผลิตแรงงาน ประชากรจึงเพิ่มขึ้น เกิดเป็นชุมชน เป็นสังคมที่มีระบบและความซับซ้อน มีการแบ่งงาน สะสมผลผลิต และจัดลำดับชนชั้นทางสังคม มีการสร้างเมือง เกิดชนชั้น“เจ้า” และเมื่อถึงจุดนี้ สงครามจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่ามันช่วยขยายพื้นที่และแรงงานในการผลิต

ด้วยเหตุนี้ศาสนาและสงครามจึงควบคู่กันมาตลอด อย่างน้อยที่สุดศาสนาก็คือการทำสงครามกับกิเลส ตัณหา ปราบปรามความทุกข์และหยุดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไปด้วยกันได้ดีกับนักรบ นักปกครอง เพราะศาสนาไม่เพียงสร้างเสถียรภาพให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดให้กับนักปกครอง ( เพราะการเปลี่ยนแปลงของเจ้าผู้ปกครอง ย่อมหมายถึงความตาย การผลัดแผ่นเดิน หรือช่วงชิงราชบัลลังค์ ) แต่ยังสร้างความชอบธรรมให้กับสงครามอีกด้วย
เนื่องจากการทำสงคราม อีกนัยหนึ่งก็คือการเผยแพร่ศาสนา เพราะว่าการที่จะปกครองประเทศราชที่มากมายและหลากหลายวัฒนธรรมให้ง่ายนั้น นักรบผู้ปกครองก็ต้องทำให้มีศูนย์รวมศรัทธาร่วมกัน เคารพในสิ่งเดียวกัน มีวัฒนธรรมพีกรรมร่วมกัน มีผีหรือพระเจ้าตนเดียวกัน ซึ่งผีหรือพระเจ้านั้นก็ต้องเป็นตนเดียวที่ผู้ปกครองเชื่อถือศรัทธา ดังที่พระเจ้าอโศกพยายามให้เมืองใต้อาณัติของพระองค์นับถือพุทธศาสนา ดังนั้นศาสดากับกษัตริย์จึงแยกจากกันไม่ขาดเสียทีเดียว ดังที่ พราหมณ์ทั้ง 7 คนได้ทำนายพระพุทธเจ้า สมัยที่ยังเป็นกุมารสิทธัตถะว่า หากได้ถือเพศฆราวาสจะได้เป็นมหาจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ ปราบปรามและปกครองแว่นแคว้นมากมาย หากออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คอยสั่งสอนเวไนยสัตว์ เป็นศาสดาเอกแห่งโลก

ด้วยเหตุนี้ “เจ้า” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้า พระพุทธเจ้า รวมไปถึงพระเจ้าอยู่หัว ต่างก็ไม่โปรดกับการเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก เพราะมันไม่ได้นำมาซึ่งความสุข รังแต่จะให้สถาบันของตนเสื่อม เรียวลง และจุดจบ การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเพียงเล็กน้อยของหลักธรรม ก็ทำให้เกิดการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ การเปลี่ยนแปลงการการปกครอง ก็กลายเป็นอวสานของกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือในระดับสถาบัน

การที่พยายามไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ “เจ้า” นั้น ทำให้เจ้าไม่ยอมแสดงอากัปกิริยา ที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เราจึงไม่เคยเห็นพระพุทธรูปในเวอร์ชั่น แก่ชรา แม้แต่ในตอนที่ปรินิพพานในวัย 80 สาธารณชนจึงไม่เคยเห็นชนชั้นสูง แสดงอารมณ์ที่แปรปรวน ไม่ว่าจะเศร้า โมโห ริษยา หัวร่องอหาย เพราะยิ่งเปิดเผยความเปลี่ยนแปลงและอารมณ์ความรู้สึกมากเท่าไร ก็ยิ่งถูกเข้าใจและเข้าถึงได้มากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือลดน้อยลง

ดังนั้นผู้ที่ “นิ่ง” ดูสุขุมเยือกเย็น คัมภีรภาพ น่าเคารพเชื่อถือมากกว่า คนที่ กระโตกกระตาก กระดี๊กระด๊า และอารมณ์แปรปรวน และด้วยเหตุนี้ “cool” จึงแปลได้กับคำว่า เจ๋งหรือเท่

และในสังคมที่เชื่อและเคารพผู้อาวุโส เรียงคุณค่าของบุคคลตามลำดับก่อนหลัง ผู้ที่เกิดก่อนย่อมศักดิ์สิทธิ์และทรงอิทธิพลกว่าผู้มาใหม่ บุคลิกลักษณะที่นิ่งเงียบจึงได้รับการยอมรับว่าเป็น “ผู้ใหญ่” ขณะที่อารมณ์ที่แปรปรวน ขึ้นๆลงๆ กลายเป็นคุณลักษณะของเด็กและวัยรุ่น ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวถูกสร้างความชอบธรรมด้วยองค์ความรู้ของแพทย์และนักจิตวิทยา

เมื่อผู้ที่นิ่งกว่า ไม่ไหวติงหรือแสดงอารมณ์ความรู้สึก ย่อมน่ายำเกรงกว่า ผู้ที่แน่นิ่งหรือตาย ย่อมได้รับการเคารพและกราบไหว้มากกว่าผู้ที่ยังเป็นๆอยู่ แม้ว่าศพนั้นจะเป็นเด็กวัยรุ่นหรือทารกก็ตาม ความตายจึงเป็นตัวเปลี่ยนผ่านความไม่น่าเชื่อถือสู่ความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังพลาสเจอไรท์ให้กับผู้ตายอีกด้วย แม้ว่าศพนั้นจะตายเพราะไปปล้นฆ่าใครจนโดนวิสามัญฆาตกรรม หรือพรานล่าสัตว์ถูกเสือขบกัดตาย หนังสืองานศพของพวกเขาก็จะถูกเล่าคุณงามความดีในประวัติเสียหยดย้อย

ความตายนั้นช่วยให้คนจิตนาการและใฝ่ฝันถึงการเกิดใหม่ ชาติภพหน้าที่ดีกว่าปัจจุบัน เพราะ ศาสนิกหลายคนเชื่อในพระเจ้า500ชาติ พระเจ้า 10 ชาติ ต้องการสั่งสมบุญเพื่อชาติถัดไปให้ใกล้ถึงนิพพานยิ่งขึ้น ชาติ “ใหม่” ที่เกิดมาย่อมเป็นชาติที่ “ดี” กว่าชาติเก่า
และคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา “ความสมัยใหม่” / modernity / modernism ( ที่พยายามปลดแอกมวลมนุษยชาติออกจากศาสนาความเชื่อที่ตรวจสอบหรือพิสูจน์ไม่ได้ คลุมเครือ ไม่โปร่งใสและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ) ได้ถือค่อยๆเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ความคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า สิ่งใหม่ย่อมนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีกว่าและเติมเต็มความสุขสมได้กว่ามากสิ่งเก่าก็ชัดเจนขึ้น อะไร “ใหม่ๆ” จึงเป็นสิ่ง “ดี” ซึ่งได้รับการยอมรับและต้องการจากสังคม แม้ว่าจะไม่ขลัง “cool” แต่มันก็ “hot” ชนิดที่ว่า “มีอะไรใหม่ๆไหม” เป็นประโยคติดปากของใครหลายคนเหมือน “สุขสบายดีไหม”

เมื่อเกิดการปฏิวัติวิทยาและศาสตร์ มนุษย์กระหายความรู้ที่ไม่คลุมเครือและสามารถพิสูจน์หรือตรวจสอบได้ ศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์จึงได้รับการยอมรับ แทนที่ศาสตร์ของศาสนาที่เปรียบได้กับของเก่าล้าสมัย
การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ทางแห่งความเสื่อมอย่างที่ศาสนาว่า แต่ถูกให้ความหมายว่าเป็นการประยุกต์และการผลิตสิ่งใหม่ๆ ความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ ถือว่ามีพลวัติ ไม่แน่นิ่งและไม่ตาย ความรู้ที่ไม่แสดงตัวตนอารมณ์ความรู้สึกและแหล่งที่มาถูกมองว่าเป็นความรู้ที่ถูกผลิตมาอย่างขาดความรับผิดชอบ ไม่แสดงตัวตน ไม่เปิดเผยตำแหน่งแห่งที่ของผู้ผลิตความรู้

ด้วยเหตุนี้ งานวิชาการหลายชิ้นที่ถือกำเนิดขึ้นในเวลาต่อมา จึงกลั่นมาจากประสบการณ์และตัวตนของผู้ศึกษาเอง อย่างเช่นงานเขียนวิชาการและทฤษฎีของfeminisms

เมื่อการประยุกต์ และความมีพลวัติเป็นสิ่งสำคัญ มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันสมัย เพราะมันนำซึ่งความก้าวหน้า การอยู่กับอดีตไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คือการจมอยู่กับความทุกข์ ภาพของนักอนุรักษ์นิยมที่ปรากฏออกมาในที่สาธารณะจึงเป็นภาพของผู้ที่เกรี้ยวกราด โมโหร้าย และเป็นอุปสรรคของอนาคต คนที่ยังยึดติดกับคนรักเก่าที่จากไป จึงเป็นคนที่อมทุกข์ ขังตัวเองอยู่กับที่ และน่าสงสาร และอดีตมักถูกเปรียบได้กับผีที่คอยหลอกหลอนและเป็นภัย โลกสมัยใหม่จึงมองเรื่องผีเป็นเรื่องโง่งมงาย และไร้สาระ

เมื่อผีเป็นเรื่องปัญญาอ่อน ไม่ได้น่าหวาดผวาอีกต่อไป ศาสนาจึงไม่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต เพราะพระได้สถาปนาตนเองเป็นตำรวจปราบผี

สิ่งใหม่จึงกลายเป็นคู่ตรงข้ามกับศาสนาในตัวของมันเอง เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ศาสนาลดบทบาทลง แต่มันยังขัดแย้งต่อหลักธรรมอีกด้วย เหตุที่ศาสนาไม่ปลื้มกับการผลิตเป็นทุนเดิม เพราะทำให้เกิดทุกข์ แต่สิ่งใหม่ๆกลับเป็นผลพวงจากการผลิต ที่สังคมยุคใหม่พึงพอใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการค้า คอลเลคชั่นใหม่ของเสื้อผ้าร้องเท้ากระเป๋าเครื่องประดับ รุ่นใหม่ๆของเทคโนโลยี ย่อมเป็นที่นิยมและสร้างกำไรได้มากกว่าคอลเลคชั่นหรือรุ่นเก่าๆ ผู้คนย่อมจ่ายให้กับสินค้าเหล่านี้เพื่อความสุขที่เกิดขึ้นทันตาเห็น แทนการทำบุญให้วัดเพื่อหวังความสุขในภายภาคหน้าที่ไม่สามารถประกันความมั่นใจได้ว่าจะสุขจริงๆ ศาสนาจึงมักโจมตีการบริโภคและกระแสทุนนิยมและความหรูหราฟุ่มเฟือย ว่าเป็นสิ่งเสื่อมทราม กิเลสตัณหา เพราะทั้งบริโภคนิยมวัตถุนิยมและทุนนิยมได้แย่งลูกค้าจากวัดไปเสียหมด แต่ถึงกระนั้นวัดวาอารามต่างก็ถูกสร้างขึ้นมาจากทรัพยากรที่เหลือเฟือ ความมั่งมี ความหรูหราที่เกิดจากการค้าการเก็บภาษีและสงครามของชนชั้นสูง ไม่ได้ถูกสร้างจากความศรัทธาเพียงล้วนๆ

เช่นเดียวกับการค้าที่ยังต้องอิงอาศัย โครงสร้างสังคมที่เชื่อว่าสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าอาหารที่ผู้ประกอบการนิยมเพิ่มชื่อร้านตนเองด้วยคำว่า “เจ้าเก่า” จนกลายเป็นนามสกุลพ่วงท้าย เช่นเดียวกับคำว่า “สูตรดั้งเดิม” “ต้นตำหรับ” ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่าต้นตำหรับใคร ดั้งเดิมหรือเก่าแก่ขนาดไหน ศตวรรษ ทศวรรษ หรือเมื่อวาน ?

แต่ถึงกระนั้น ความเก่า ก็ยัง “เก๋า” พอที่จะเรียกลูกค้าได้มากกว่าร้านอาหาร “เจ้าใหม่” “สูตรทันสมัย” ที่แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นตามหลังชื่อร้าน

เอาเข้าจริงแล้ว ฉันว่า การเปลี่ยนแปลง และการไม่เปลี่ยนแปลง ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความสุขและความทุกข์ ขึ้นอยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นใครได้หรือเสียผลประโยชน์

การเปลี่ยนแปลงย่อมก่อให้เกิดสิ่งแปลกใหม่และประหลาด แม้จะสร้างปัญหาในการนิยามอันเป็นลักษณะนิสัยของพระและเจ้าที่จะสร้างความหมาย นิยามเพื่อควบคุม แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชนชั้นเจ้ามักเป็นผู้รับสิ่งใหม่ๆก่อนชนชั้นอื่น และการเปลี่ยนแปลงล้วนเกิดขึ้นจากชนชั้นสูงก่อนเสมอ

ก่อนหน้านี้ มนุษย์เปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการทำความรู้จักใช้ไฟและประดิษฐ์เครื่องมือหิน ทำให้มนุษยชาติกินอาหารได้หลากหลาย กินเนื้อสัตว์ได้มากขึ้นทั้งสายพันธุ์และปริมาณ แต่ก็ทำให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างได้ยากลำบากยิ่งขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงต่อมาก็ทำให้เราไปปลดทุกข์ อย่าสงบสุขในห้องแห่งความสุขหรือ “สุขา” ไม่ต้องเผชิญกับงูเงี้ยวเขี้ยวขอขณะไปทุ่ง หรือต้องคอยระแวดระวังหมูหมาที่จะมาสร้างความรำคาญ
ในสังคมเกษตรกรรม ผู้คนเลี้ยงชีพด้วยการปลูกข้าวครอบครองที่ดิน ก็ไม่สามารถหรือไม่จำเป็นที่จะโยกย้าย เปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย การอยู่กับที่ การไม่ไปไหนหรือเปลี่ยนแปลง ย่อมดีกว่า ไม่ต้องทุกข์ร้อนกับการเผชิญหน้ากับสัตว์ร้ายและโรคภัยไข้ป่า ทำให้มีเวลาและอาหารเหลือเฟือ วันๆปี้ๆเอาๆกันมีลูกมีหลานมาช่วยกันทำไร่ไถ่นา แต่ก็ต้องเผชิญกับความทุกข์อันเกิดจากการผลิต ตามที่ศาสนาบอก

ทั้งนี้เนื่องมากจาก ศาสนาได้เข้ามานิยามความหมายของการเปลี่ยนแปลงและความคงที่ ความหมายของความสุขและความทุกข์ ซึ่งในการกระบวนการการให้ความหมายนั้น ศาสนาได้ให้ความหมายของความทุกข์จากสิ่งปรกติที่ปรากฏอยู่บนโลกแล้ว แต่ให้สร้างหนทางในการดับทุกข์จากสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกเลย

วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิกฤตของพ่อแม่


เรื่องมันมีอยู่ว่า เพื่อนฉันอยากไปเที่ยวเขาใหญ่ แต่ลากิจไม่ได้ จึงพยายามเสาะแสวงหาใบรับรองแพทย์เก๊ๆ เพื่อมาสร้างความชอบธรรมในความเจ็บไข้ได้ป่วยจนไม่สามารถเป็นฟันเฟืองให้กับนายทุนปัจจัยในการผลิตให้กับนายทุน
แต่ก็แปลก ถ้าเพื่อนฉันป่วยจนไม่สามารถออกไปทำงานได้ แต่ทำไมต้องให้เพื่อนฉันขับรถไปโรงพยาบาลเพื่อขอใบรับรองแพทย์ด้วย

ในฐานะคนตกงานอยู่ในบุคคลไร้รายได้ที่แน่นอน ฉันได้แต่เห็นอกเห็นใจคนทำมาหากินที่อยากจะพักผ่อนนอนอยู่บ้านกระดิกนี้วตีนติดกัน 2 – 3 วันทั้งที ยังต้องอาศัยโรคภัยไข้เจ็บที่สมเหตุสมผลพอที่จะไม่ต้องทำงานได้ ไม่เหมือนสมัยเรียนหนังสือ นึกอยากจะโดดเมื่อไรก็โดด ไปกินเหล้าเมายาหยำเปตลอดทั้งคืน ตื่นเช้ามาปวดหัวเรียนไม่ไหวก็นอนต่อ ไม่เห็นต้องรายงานให้ใครทราบว่าพี่ตายหรือยายป่วย... ก็แน่ละทำงานแลกเงินเขานี่ ไม่ได้วันๆนั่งๆนอนๆขอเงินพ่อแม่ไปวันๆอย่างฉัน ที่อยู่ในสภาวะพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ ฉันจึงมีพ่อแม่เป็นสรณะตั้งแต่เด็กยันโต ฉันจึงกลายเป็นคนติดบ้าน ไม่อยากจากพ่อแม่ไปไหนสักครั้ง


ตอนเด็กๆ ทุกครั้งที่ฉันผวาตื่นไม่ว่าด้วยฝันร้ายหรือเสียงฟ้าคำราม ทุกครั้งที่ฉันมีบาดแผลไม่ว่าที่ร่างกายหรือหัวใจ ฉันจะเก็บซ่อนความเสียดแสบความประหวั่นพรั่นพรึงและน้ำตา แล้ววิ่งแจ้นไปหาอ้อมกอดแม่หรือพ่อ เพราะมันเป็นที่ที่รู้สึกปลอดภัย อบอุ่นใจและได้รับการคุ้มภัยมากที่สุด


ไม่เพียงเฉพาะเศรษฐกิจ แต่พ่อแม่ยังเป็นเสาหลักให้พึ่งพิงทางจิตใจ ปลอบประโลมยามหวาดกลัว อบรมสั่งสอนพยายามให้ฉันอยู่ในโอวาท สำหรับฉันพ่อแม่จึงกึ่งๆศาสนาหรือพระเจ้าที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวและขัดเกลาจิตใจ กำหนดกฎระเบียบ แถมมีความศักดิ์สิทธิ์น่าเทิดทูน และเกิดจากความหวาดกลัว


ด้วยเหตุนี้จึงมีคนชอบเปรียบพ่อแม่กับ พระ กับ พรหม ที่อยู่ในบ้าน อยู่บ่อยๆ


แต่พอโตขึ้นเรื่อยๆ ฉันเริ่มเข้าใจว่าโลกไม่ได้มีแค่ในบ้าน พ่อไม่ได้หล่อและเท่ห์ที่สุดในโลกและแม่ก็ไม่ได้เป็นผู้หญิงสวยที่สุดเช่นกัน ความรู้และกฎระเบียบเริ่มเพิ่มพูนขึ้นรอบนอกรั้วบ้าน ฉันจึงได้เรียนรู้และเข้าใจในบางสิ่งที่พ่อแม่ไม่เคยสอนและไม่เคยรู้


เมื่อไม่ใช่ผู้ที่ฉลาดรอบรู้และพึ่งพาไปได้ทุกเรื่อง พ่อกับแม่จึงไม่ได้เป็นที่พึ่งได้ให้กับในลูกๆเหมือนตอนยังเป็นเด็ก ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่น่ายำเกรงอย่างพระเจ้า


“พระและพรหมในบ้าน” จึงดูเหมือนเป็นวาทกรรมที่ขี้จุ๊และเวอร์ไปสักหน่อย เพราะพ่อแม่ก็เป็นเพียงมนุษย์ขี้เหม็นคนหนึ่งที่มีผิดชอบชั่วดีเหมือนกัน
ลูกหลายๆคนจึงไม่ยอมให้พ่อแม่มาลิขิตชะตาชีวิตราวพระเจ้าว่าต้องดำเนินชีวิตอย่างไร เรียนคณะอะไร ทำงานด้านไหน ต้องกลับบ้านกี่โมง แล้วเรียนจบต้องแต่งงานกับใคร


ยิ่งเทรนด์โลกที่สิทธิของแต่ละบุคคลเท่าเทียมกันและมีเสรีภาพเสมอกัน แม้จะเป็นไปตามทฤษฎี ก็ตาม แต่ก็ทำให้มนุษย์มีอำนาจในการเลือกกำหนดและปกครองชีวิตได้เอง


พ่อแม่จึงเป็นผู้ปกครองลูกได้ก็ต่อเมื่อลูกยังเป็นผู้เยาว์เท่านั้น


เพราะเมื่อเด็กโตพอจนพ้นสภาพผู้เยาว์ ย่อมมีศักยภาพพอที่จะควบคุมและพึ่งตัวเองได้มากขึ้น พ่อแม่จึงไม่ใช่ผู้ปกครองอีกต่อไป ลูกจึงไม่ได้เป็นผู้ถูกปกครองหรืออยู่ใต้อาณัติตามหลักกฎหมาย เหมือนที่พ่อแม่คาดหวังให้ลูกพึ่งตัวเองมากขึ้น คิดเองทำอะไรได้เองไม่ต้องให้พ่อแม่ประคบประหงมอยู่ตลอด แต่ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็หวังลึกๆว่าในสายตาของลูกจะไม่มีใครยิ่งใหญ่และทรงอำนาจไปกว่าตน


มันจึงดูเหมือนเป็นวิกฤติศรัทธาสำหรับพ่อแม่บางคู่ที่รู้สึกอดปวดกบาลไม่ได้ว่า “เด็กเดี๋ยวนี้มันไปเชื่อดารานักร้องกันหมดแล้ว ไม่เชื่อพวกเราหรอก” ไม่ก็ “เดี๋ยวนี้มันชักจะเอาใหญ่ พูดอะไรไม่รู้จักฟัง แถมยังเถียงคำไม่ตกฝาก”
ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายน่าสะเทือนใจหรือเป็นความล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ชนชั้นกลางหลังศตวรรษที่ 19

เทิดทูนแต่อย่างใด หากบุพการีจะไม่ใช่บุคคลที่น่าเชื่อถือที่สุดทุกเรื่องสำหรับชีวิตลูกๆที่ตนเคยเฝ้าฟูมฟักอบรมสอนสั่งในสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เหมาะสมมานานนับปี เพราะถ้าหากพ่อแม่น่าเชื่อถือได้หมดทุกเรื่อง ป่านนี้ เพื่อนฉันคงไม่ต้องมะงุมมะงาหราหาหมอออกใบรับรองแพทย์ให้หรอก เธอคงเขียนใบลาเอง แล้วให้พ่อแม่เซนต์ชื่อกำกับว่า ““ขอรับรองว่าเป็นความจริง”