วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ฆ่าตัวตาย

“โถ... อายุยังน้อยไม่น่าคิดสั้นเลย”
“เค้าว่า การฆ่าตัวตาย เป็นบาปหนากว่าฆ่าคนอื่นอีกนะ”
“ขนาดหมาขี้เรื้อนมันยังไม่ฆ่าตัวตายเลย”

“ถูกค่ะ... หมาขี้เรื้อนมันจะไปฆ่าตัวตายได้ไง ขนาดหายามาทาให้ขนงอกมันยังทำไม่เป็นเลย นับประสาอะไรกับถือถือมีดมาปาดขาหน้าตัวเอง”


ฉันแอบเห็นด้วยในใจขณะนอนดูรายการข่าวพลางอ่าน sms ที่คนทางบ้านส่งไปร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ นักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดัง โดดตึกที่คณะฆ่าตัวตาย เพราะเครียดเรื่องคะแนนเกรดทีไม่ได้อย่างที่ตนหวัง ซึ่งดูเหมือนว่ากลายเป็น”ปัญหาสังคม”

ยิ่งวัยรุ่นฆ่าตัวตายแล้วยิ่งถือว่าเป็นปัญหาสังคม เพราะว่ารัฐอุตส่าห์ลงทุนด้วยสวัสดิการต่างๆมากมายให้กับนักเรียนนักศึกษา เพียงเพื่อหวังว่าการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้ทรัพยากรมนุษย์เติบโตมีอาชีพดีๆรายได้สูงๆ สามารถจ่ายภาษีให้รัฐในอัตรามากๆได้ แต่ไม่ทันที่รัฐจะได้ผลกำไร ยังไม่ถอนทุนด้วยซ้ำก็ดันมาชิงตายเสียก่อน

อัตวินิบาตกรรมจึงเป็นบาปหนาเพราะทำให้รัฐขาดทุนและผิดหวัง นอกเสียจากว่าเป็นการฆ่าตัวตายเพื่อรับใช้รัฐ ที่ซามูไรปกป้องความลับด้วยการฮาราคีรี คว้านท้องตนเองจนไส้ขาดจะได้ไม่ต้องไปสาวไส้ให้กาที่ไหนกิน เช่นเดียวกับสโลแกนของลูกเสือ “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ที่ประกาศว่า กูยอมกลืนน้ำยาล้างห้องน้ำยังดีเสียกว่ากลืนน้ำลายตัวเอง ( ที่เคยปฏิญาณไว้ว่าจะจงรักภักดี ) เพราะถือว่าเป็นการพลีชีพ เสียสละเลือดเนื้อ เพื่อชาติและอุดมการณ์

ดังนั้นการฆ่าตัวตายที่ไม่ถือว่าบาปก็คือ การฆ่าตัวตายถวายรัฐ

รัฐจึงถือว่าเป็นผู้ที่สามารถกำหนดความตายให้พลเมืองได้ เพราะเมื่อเราตายจึงต้องมีใครสักคนไปแจ้งอำเภอเพื่อรับการยินยอมจากรัฐในมรณบัตรเสียก่อนว่าตายจริงๆ

รัฐกับพระผู้เป็นเจ้าและเจ้ากรรมนายเวรจึงมีฟังค์ชั่นเดียวกัน ต่างก็ทำหน้าที่ควบคุมกำกับมนุษย์ ลิขิตชะตาชีวิต หรือให้มนุษย์เกิดมาก็เพราะชดใช้เวร และตายไปตามกฎแห่งกรรม

...ดังนั้น เวลาเสียภาษีแต่ละปีเราจึงรู้สึกเป็นเวรที่ต้องทำมากกว่าเป็นความสมัครใจ…

ด้วยเหตุนี้การที่ใครคนหนึ่งทำอัตวินิบาตกรรมนั้น จึงเป็นการท้าทายและปฏิเสธสถาบันศาสนา แล้วประกาศกร้าวเป็นเพลงป้าเบิร์ดว่า “นี่คือชีวิตลิขิตของเรา” หรือพูดให้เก๋หน่อยก็คือ ฉันมี “self-determine” ที่จะอยู่หรือตาย ไม่ว่าด้วยเหตุผลเพราะติดหนี้ เกรดตก อกหัก รักคุด ตุ๊ดเมินหรือจะอะไรก็ช่าง

เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆก็เลือกที่จะทำตามความต้องการความฝันใฝ่ อย่างที่เด็กวัยรุ่นสมัยใหม่ล่าตามฝันด้วยการสมัครเข้าโรงเรียนกินนอนสอนร้องเพลง ให้คนทางบ้านได้โหวตได้เชียร์ได้ชม แสดงความเห็นต่างๆนานาตลอด24ชั่วโมง

หลังจากดูข่าวและอ่านข้อความแสดงความคิดเห็นใต้รายการมานาน จนนึกไปว่าเป็นรายการเรียลลีตี้ Academy Fatasia ฉันก็อดไม่ได้ที่ส่งsmsไปแสดงความคิดเห็นบ้าง

“ บอกไปแต่แรกแล้ว ว่าอย่าลงโทษอาจารย์หนุ่มที่ให้นักศึกษาหญิงอมนกเขาเพื่อแลกเกรด ...ก็ไม่เชื่อ ”

วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551

โรงพยาบาลรัฐกับสำนึกของพลเมือง


เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อตอนฉันพาแม่ไปลอกต้อกระจกที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ฉันทำใจไว้แล้วเสมอเวลาจะติดต่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของรัฐมักไม่ได้อย่างที่ต้องการ และนำไปสู่การใช้ปากเสียกันระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งมันก็เป็นอย่างที่สังหรณ์ใจเสมอ ขณะที่กำลังยืนต่อคิวยาวเหยียดเพื่อจ่ายเงินค่ายาและค่าผ่าตัด ( เมื่อได้ใบเสร็จแล้วก็จะสามารถไปรับยาหลังจากนั้นจึงจะไปฟังขั้นตอนการใช้ยาแล้วก็ไปหาแม่ที่ห้องพักผู้ผ่าตัด ซึ่งแต่ละที่ที่ต้องทำอยู่คนละตำแหน่งคนละชั้นกัน ) ฉันเหลือบไปเห็นตัวอักษรเบ้อเร่อเบ้อร่าว่า “จ่ายยา” อยู่ใกล้ๆกับช่องที่ฉันต่อคิวรอเสียค่าพยาบาลอยู่ ฉันจึงหันมามองช่องที่ฉันต่อแถวอยู่บ้างมันเขียนว่า “ชำระเงิน” ด้วยฟอนต์และขนาดเดียวกัน


เรื่องทั้งหมดนี้ ถ้าอ่านเอาเรื่องก็คงจะได้ความว่า ถ้าจะจ่ายเงินช่องนี้ แต่ถ้าจะเอายาไปช่องถัดไป ก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก สะกดก็ถูก ฟอนต์ก็ปรกติ ถ้าอ่านออกเสียงก็ไม่รู้สึกเหมือนถูกกรรโชกแต่อย่างใด


แต่ฉันมันบ้า ดันอ่านไม่เอาเรื่อง...


ฉันจับประเด็นได้ว่า ข้อความที่เขียนทั้ง 2 ช่องนั้น เป็นข้อความที่โรงพยาบาลต้องการแจ้งให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ว่าถ้าหากต้องการสิ่งใดให้ไปช่องนั้น ช่องทีเขียนว่า “จ่ายยา” นั้นหมายถึงประชาชนคนเจ็บไข้ที่ต้องการยาก็ให้ไปรับยาที่ช่องนี้ แล้วช่องข้างๆที่เขียนว่า “ชำระเงิน” นั้นต้องการจะบอกว่า ประชาชนผู้ป่วยไข้จะต้องเสียเงินเท่าไรก็ต้องไปช่องนี้


พอเข้าใจได้ดังนั้นฉันก็สงสัยขึ้นมาทันทีว่าป้ายนี้ต้องการจะบอกใคร ฉันหรือโรงพยาบาล
เพราะ “ชำระเงิน” กับ “จ่ายยา” ทั้ง 2 เป็นวลีที่เกิดจากคำกิริยา “ชำระ” กับ “จ่าย” บวกกับกรรม”เงิน” กับ “ยา” ซึ่งประธานถูกละไว้และถ้าหากจะทำให้เป็นประโยค ประธานนำหน้าคำกิริยา ก็จะต้องเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับ โรงพยาบาลที่ฉันมารักษา ผู้ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินจำนวนเงินและเป็นผู้จ่ายยาให้ผู้ใช้บริการ ส่วนผู้ที่ถูกกระทำหรือเป็นกรรมหลักของประโยคก็คือประชาชน ในรูปแบบประโยคเช่นนี้ ประชาชนจึงไม่สามารถเป็นประธานผู้กระทำเองได้ นอกเสียจากจะแก้ไขวลีให้เป็น“จ่ายเงิน” กับ “รับยา”


วลีดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการบอกเพียงว่าผู้อ่านต้องทำอะไรแต่บอกด้วยว่ารัฐทำอะไรกับผู้อ่านอยู่ ดังนั้นฉันจึงไม่ได้ต่อคิวเพื่อจ่ายเงินให้โรงพยาบาลแล้วรับยาจากโรงพยาบาล แต่ทว่าถูกคิดเงินแล้วโดนจ่ายยา
ดังนั้น “ชำระเงิน” กับ “จ่ายยา” จึงเป็นวลีที่ให้ประชาชนตระหนักถึงรูปแบบความสัมพันธ์ของตนกับรัฐว่า ใครที่เป็นผู้กระทำและใครเป็นผู้ถูกกระทำ ฉันเลยรู้สึกได้ทันทีว่าฉันเป็นเพียงพลเมืองตัวเล็กๆที่กำลังถูกกำกับภายใต้สายตาที่จับจ้องโดยรัฐ


โรงพยาบาลรัฐจึงไม่เพียงทำหน้าที่รักษาเยี่ยวยาความป่วยไข้ของพลเมืองแต่ยังขัดเกลาสำนึกที่มีต่อรัฐว่าใครเป็นผู้กระทำและเป็นประธานไม่ว่าในไวยากรณ์ภาษาหรือไวยากรณ์ชีวิต ถึงแม้ว่าประชาชนจะเป็นรัฐาธิปัตย์ มีอำนาจในการปกครองรัฐ แต่อำนาจนั้นก็ถูก”จ่าย”จากรัฐอีกที และแม้ว่าประชาชนจะเป็นผู้จ่ายภาษีเลี้ยงดูอุ้มชูรับ แต่สำหรับสายตารัฐแล้วมันไม่ต่างอะไรไปจากการ”ชำระเงิน”

เอ๊ะ !... รึว่าฉันไม่ได้อ่านไม่เอาเรื่อง แต่ฉันอ่านหาเรื่อง...

"เค้าเล่าว่า"


“ที่รัก.. เค้าบอกว่าหนังเรื่องนี้สนุกมากเลยนะ ไปดูกันไหม”
“แกรู้ไหม เขาเล่าว่าอีดาราคนนี้ดูใสๆเรียบร้อยแบบนี้นะ ตัวจริงน่ะ แรดจะตายชัก”
“นี่หล่อน... เค้าบอกว่า น้ำคลอโรฟิลล์ มันไม่ได้ช่วยให้ผิวดีขึ้นหรอกนะยะ”


ฉันมักได้ข้อมูลข่าวสารประเภทนี้อยู่เสมอ ไม่ใช่จากใครที่ไหนก็บรรดาคนรอบข้างฉันนี่แหละ ที่ไม่ว่าจะไปฟังใครเขาเล่ามาก็จะจำมาเล่าให้ฉันฟังทุกที ซึ่งพอจะเดาได้ว่า ตอนไปฟังมาก็จะข้อมูลที่ขึ้นประโยคด้วย
“เค้าบอกว่า...”


ฉันก็ไม่รู้ว่าสมควรจะเชื่อเพื่อนดีไหม แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่เชื่อถือและไว้ใจ แต่ไอ้เรื่องที่ไปฟังมาไม่รู้ว่าน่าเชื่อถือได้รึเปล่า เพราะ ”เขา” หรือ ”เค้า” คนนั้นเป็นใครก็ไม่รู้ อาจทีมวิจัยจากอีรีนอยส์ หรือ หมอผีในปาปัวนิวกีนี หรือบางที... ไม่มีตัวตน


การที่ไม่มีอะไรอ้างอิงมันจึงเป็นเรื่องที่ชวนให้ลำบากใจให้เชื่อถืออยู่ไม่น้อย


ถึงจะกระนั้นก็เถอะ การที่มีอ้างอิงก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไปในความรับรู้ของเรา เวลาทำรายงาน เขียนบทความจึงรู้สึกว่า พวกเชิงอรรถ บรรณานุกรม มันช่างวุ่นวาย เรื่องมาก หลายคนพาลคิดไปว่าเป็นความโก้เก๋และเป็นสิ่งตกค้างทางวัฒนธรรมตะวันตกหลังยุคล่าอาณานิคม อย่าแค่ให้เขียนเลย อ่านยังไม่อยากก่านด้วยซ้ำ


การที่ไม่มีอะไรอ้างอิง หรือแหล่งที่มา ความรู้จึงกลายเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือไม่จริง ตรวจสอบไม่ได้ว่าถูกหรือผิด หรืออย่างที่คนสมัยใหม่ชอบพูดว่า ”ไม่โปร่งใส”


ความรู้ประเภทจับต้องไม่ได้นี้ ฉันว่ามันช่างเหมาะเจาะกับสังคมชาวนาสังคมชาวพุทธอย่างของไทยเสียนี่กระไร ความรู้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ก็ขึ้นมาลอยๆด้วยตนเอง ไม่มีการอ้างอิง และไม่มีการจดบันทึก เป็นเพียงการท่องจำฟังตามกันมา กว่าจะจดบันทึกเป็นพระไตรปิฎกก็ล่อไปเกือบ 500 ปีหลังจากปรินิพพาน พระสงฆ์ที่ขึ้นธรรมาสน์เทศนาก็ไม่มีบทร่างเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อีกอย่างการปลูกไร่ไถนาเลี้ยงหมูดูหมาจึงไม่จำเป็นต้องรู้หนังสือ


เราจึงชอบที่จะเล่าจะฟังมากกว่าขีดๆเขียนๆเอง คนที่กล่าวสุนทรพจน์ได้โดยไม่มีสคริปจึงดูเจ๋งกว่าคนที่มีสคริปให้พูด เพราะการอ่านจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าพิสมัยและไม่ธรรมชาติ เสมือนไกลตัวออกไป


ทุกวันนี้แต่ละช่องทีวีจึงดกดื่นไปด้วยรายการที่ให้นักข่าวออกมาอ่านข่าวอ่านนิตยสารให้เราฟังทุกเช้า เพราะผู้ชมโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทฉันขี้เกียจที่จะเปิดอ่านหนังสือพิมพ์นิตยสารเอง ด้วยเหตุประการฉะนี้นิตยสารจึงต้องมีจุดขายและเรียกผู้อ่านด้วยภาพถ่ายแฟชั่นมากกว่าบทความข้างในข้างใน


ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีที่คนไทยยังไม่ลืม ”กำพืด” หรือพูดให้เสนาะหูหน่อยก็คือ ยังมีสำนึกรักษ์บ้านเกิด ท่ามกลางความพยายามถีบตัวเองออกจากสังคมการเกษตรสู่อุตสาหกรรม ระบบการศึกษาย้ายจากวัดมาสู่รัฐ เมืองหลวงที่รถติดเป็นอันดับต้นๆของโลกถูกพยายามแปรรูปให้เป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่นแถวหน้าของโลก ( ถึงขนาดเคยปิดถนนให้รถติดกว่าเดิมเพื่อเดินแบบอีกแน่ะ ) ที่ยังคงรักษากระบวนการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารความรู้แบบปากต่อปากเป็นมุขปาฐะ มากกว่าลายลักษณ์อักษร

เพราะฉะนั้นที่ ”เค้าบอกว่า” คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่ถึง 10 บรรทัด... ฉันจึงไม่กังวลอะไร