วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551

โรงพยาบาลรัฐกับสำนึกของพลเมือง


เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อตอนฉันพาแม่ไปลอกต้อกระจกที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ฉันทำใจไว้แล้วเสมอเวลาจะติดต่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของรัฐมักไม่ได้อย่างที่ต้องการ และนำไปสู่การใช้ปากเสียกันระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งมันก็เป็นอย่างที่สังหรณ์ใจเสมอ ขณะที่กำลังยืนต่อคิวยาวเหยียดเพื่อจ่ายเงินค่ายาและค่าผ่าตัด ( เมื่อได้ใบเสร็จแล้วก็จะสามารถไปรับยาหลังจากนั้นจึงจะไปฟังขั้นตอนการใช้ยาแล้วก็ไปหาแม่ที่ห้องพักผู้ผ่าตัด ซึ่งแต่ละที่ที่ต้องทำอยู่คนละตำแหน่งคนละชั้นกัน ) ฉันเหลือบไปเห็นตัวอักษรเบ้อเร่อเบ้อร่าว่า “จ่ายยา” อยู่ใกล้ๆกับช่องที่ฉันต่อคิวรอเสียค่าพยาบาลอยู่ ฉันจึงหันมามองช่องที่ฉันต่อแถวอยู่บ้างมันเขียนว่า “ชำระเงิน” ด้วยฟอนต์และขนาดเดียวกัน


เรื่องทั้งหมดนี้ ถ้าอ่านเอาเรื่องก็คงจะได้ความว่า ถ้าจะจ่ายเงินช่องนี้ แต่ถ้าจะเอายาไปช่องถัดไป ก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก สะกดก็ถูก ฟอนต์ก็ปรกติ ถ้าอ่านออกเสียงก็ไม่รู้สึกเหมือนถูกกรรโชกแต่อย่างใด


แต่ฉันมันบ้า ดันอ่านไม่เอาเรื่อง...


ฉันจับประเด็นได้ว่า ข้อความที่เขียนทั้ง 2 ช่องนั้น เป็นข้อความที่โรงพยาบาลต้องการแจ้งให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ว่าถ้าหากต้องการสิ่งใดให้ไปช่องนั้น ช่องทีเขียนว่า “จ่ายยา” นั้นหมายถึงประชาชนคนเจ็บไข้ที่ต้องการยาก็ให้ไปรับยาที่ช่องนี้ แล้วช่องข้างๆที่เขียนว่า “ชำระเงิน” นั้นต้องการจะบอกว่า ประชาชนผู้ป่วยไข้จะต้องเสียเงินเท่าไรก็ต้องไปช่องนี้


พอเข้าใจได้ดังนั้นฉันก็สงสัยขึ้นมาทันทีว่าป้ายนี้ต้องการจะบอกใคร ฉันหรือโรงพยาบาล
เพราะ “ชำระเงิน” กับ “จ่ายยา” ทั้ง 2 เป็นวลีที่เกิดจากคำกิริยา “ชำระ” กับ “จ่าย” บวกกับกรรม”เงิน” กับ “ยา” ซึ่งประธานถูกละไว้และถ้าหากจะทำให้เป็นประโยค ประธานนำหน้าคำกิริยา ก็จะต้องเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับ โรงพยาบาลที่ฉันมารักษา ผู้ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินจำนวนเงินและเป็นผู้จ่ายยาให้ผู้ใช้บริการ ส่วนผู้ที่ถูกกระทำหรือเป็นกรรมหลักของประโยคก็คือประชาชน ในรูปแบบประโยคเช่นนี้ ประชาชนจึงไม่สามารถเป็นประธานผู้กระทำเองได้ นอกเสียจากจะแก้ไขวลีให้เป็น“จ่ายเงิน” กับ “รับยา”


วลีดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการบอกเพียงว่าผู้อ่านต้องทำอะไรแต่บอกด้วยว่ารัฐทำอะไรกับผู้อ่านอยู่ ดังนั้นฉันจึงไม่ได้ต่อคิวเพื่อจ่ายเงินให้โรงพยาบาลแล้วรับยาจากโรงพยาบาล แต่ทว่าถูกคิดเงินแล้วโดนจ่ายยา
ดังนั้น “ชำระเงิน” กับ “จ่ายยา” จึงเป็นวลีที่ให้ประชาชนตระหนักถึงรูปแบบความสัมพันธ์ของตนกับรัฐว่า ใครที่เป็นผู้กระทำและใครเป็นผู้ถูกกระทำ ฉันเลยรู้สึกได้ทันทีว่าฉันเป็นเพียงพลเมืองตัวเล็กๆที่กำลังถูกกำกับภายใต้สายตาที่จับจ้องโดยรัฐ


โรงพยาบาลรัฐจึงไม่เพียงทำหน้าที่รักษาเยี่ยวยาความป่วยไข้ของพลเมืองแต่ยังขัดเกลาสำนึกที่มีต่อรัฐว่าใครเป็นผู้กระทำและเป็นประธานไม่ว่าในไวยากรณ์ภาษาหรือไวยากรณ์ชีวิต ถึงแม้ว่าประชาชนจะเป็นรัฐาธิปัตย์ มีอำนาจในการปกครองรัฐ แต่อำนาจนั้นก็ถูก”จ่าย”จากรัฐอีกที และแม้ว่าประชาชนจะเป็นผู้จ่ายภาษีเลี้ยงดูอุ้มชูรับ แต่สำหรับสายตารัฐแล้วมันไม่ต่างอะไรไปจากการ”ชำระเงิน”

เอ๊ะ !... รึว่าฉันไม่ได้อ่านไม่เอาเรื่อง แต่ฉันอ่านหาเรื่อง...