วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พุทธแบบไทยๆ


ฉันไม่ค่อยสะเทือนใจเท่าไรกับข่าวที่ว่าหนึ่งในแกนนำพวกเสื้อแดงโดนยิงกบาลตายแหล่ไม่ตายแหล่ จากการสงครามการเมืองและกลางเมือง บนแยกราชประสงค์(ซึ่งเขี่ยเอาราชดำเนินตกกระป๋องไปเลยทีเดียว) เพราะการฆ่าฟันมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์ทางการเมือง ไม่ว่าจะรูปแบบใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ ระบบกษัตริย์ ที่เป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทย แต่สิ่งที่ฉันสะเทือนขวัญก็คือ หลายคนพลอยยินดีปรีดากับการตายของหนึ่งในแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งจำนวนในนั้นเป็นคนที่รู้จักมักคุ้นผ่าน fb และเป็นคนกรุงเทพกระฏุมภี ที่คิดถึงพารากอน ctw เกสร เต็มแก่

เพราะมันเป็นการสนับสนุนความรุนแรงและการฆ่าแกงเพื่อกำจัดคนที่มีความคิดและอุดมการณ์ในเรื่องต่างๆ ที่ต่างออกไป โดยกลุ่มคนชนชั้นที่มักมีสำนึกทางวัฒนธรรมที่เกลียดกลัวความรุนแรงและเทิดทูนความอบอุ่นละมุนละม่อม มีสำนึกทางการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยมากกว่าชนชั้นอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นเจ้าที่พัฒนาสถานภาพมาจากนักรบ เป็นชนชั้นที่มีกองทัพเป็นของตนเอง และนิยมระบอบเทวราชากับสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากกว่า

จะว่าไปแล้ว พบว่าคนที่พลอยยินดีกับการปางตายและภาวนาให้ตายในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นroyalist และพึงพอใจกับการมีประชาธิปไตย “แบบไทยๆ” !!!!

ทำเอาให้หวนให้นึกถึงภาพ “คน”เอาเก้าอี้พับฟาด “คน” ที่ถูกแขวนคอใต้ต้นไม้จนคดบิดคอเบี้ยวที่แวดล้อมไปด้วยกลุ่ม “คนด้วยกัน” ยืนมุงดู เมื่อเดือนตุลา 2519 หรือใกล้อีกนิดก็เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายคนที่ไม่ลุกขึ้นยืนเวลามีเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์

แม้ฉันเองก็ไม่ได้ romanticized แบบชนชั้นกลางชนิดที่ว่าเราต้องรักกัน คนไทยต้องรักกัน (คนตั้งเยอะแยะมันจะไปรักกันยังไงหว่า) ต้องโอบออ้อมอารี ไม่ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาก็ตาม เพราะความรุนแรงมันก็เช่นเดียวกับการเมือง มันมีอยู่ทุกที่ เราหนีไม่พ้นอยู่แล้วแม้แต่ความตาย เราจึงเห็นกระบวนการตัดสินและคาดโทษในโลกหลังความตายที่เต็มไปด้วยการใช้กำลัง ความรุนแรง ตามทรรศนะของศาสนา แม้แต่ศาสนาพุทธที่พร่ำสอนว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลกา ก็ตาม
หลายคนเชื่อว่าเรื่องเมตตาธรรมของสิทธัตถะและยืมมาใช้ในการพยายามหยุดความรุนแรงด้วยการอ้างสถานะของประเทศไทยว่าเป็น “เมืองพุทธ” ราวกับจะบอกว่าประเทศอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธเขานิยมความรุนแรง และ ประเทศที่ผู้นำและควนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธเขาจะไม่ฆ่าแกงกัน

ทว่าการบอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธของพุทธศาสนิกชนไทย ก็ไม่ต่างอะไรไปจากที่กระฎุมภีกรุงเทพมหานครลุ้นให้แกนนำเสื้อแดงตายไปทีละคนสองหรือระเบิดหัวผู้นำม๊อบ เพราะมันเป็นการกำจัดและปิดปากคนที่แตกต่างแปลกปลอม เขี่ย คริสเตียน มุสลิม ยิว คนไหว้ผี และรวมไปถึงคนไร้ศาสนา(ซึ่งดูเหมือนว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ) ให้พ้นพื้นที่การนิยามความหมายของคำว่า “คนไทย” ไม่ใช่พลเมืองหรือเจ้าของรัฐ โดยมีเครื่องมือที่เชื่อว่าไม่สร้างความรุนแรงอย่างศาสนา

เพราะศาสนาเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าโต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธใน ”เมืองพุทธ” มันจึงกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองไม่ว่าอุดมการณ์หรือระบอบแบบใด ไม่ว่าจะเป็นเทวราชา ประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรืออะไรก็ช่าง คำอธิบายของพระสงฆ์เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองจึงเข้มแข็ง ทรงพลัง น่าฟังน่าเชื่อ พระสงฆ์หรืออย่างน้อยที่สุดคนที่เสื้อผ้าหน้าผมคล้ายพระสงฆ์จึงมีบทบาททางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ยุบสภาบนเวทีเสื้อแดง การออกมาเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง การเทศนาให้เห็นถึงกฤษฏาภินิหารของบูรพกษัตริย์ไทย
และถ้ายังไม่ลืม การเข้ามาในประเทศไทยของ 'สุกิตติขจโรภิกขุ' หรือ เณรถนอม กิตติขจร และ คำสัมภาษณ์ ใน นิตยสารรายสัปดาห์ “จตุรัส” ของกิตติวุฑโฒ ว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ หน้าที่ของคนไทยทุกคน เพราะการฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ซึ่งนำไปสู่การสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลา 2519

การยืดอกประกาศก้องว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธอย่างภาคภูมิคงไม่ใช่เรื่องผิดแปลก หากแต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า เป็นเมืองพุทธแบบไทยๆ เช่นเดียวกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปรีดี พนมยงค์ : วันนี้ วันวาน และวันต่อไปที่จะไม่เหมือนเดิม


( สารภาพไว้ ณ ตรงนี้ว่า รีบเขียนมากเพื่อให้ได้ลงบลอคในวันปรีดีพอดี หลังจากไปร่วมฟังอภิปรายมาก่อนวันปรีดี 1 วัน เพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้สถาปนามหาลัยที่ฉันรักที่สุด เนื้อหาในนี้ส่วนใหญ่ฉันจำขี้ปากนักวิชาการมามากกว่าที่จะมาสติปัญญาอันน้อยนิดของฉันเอง)

ดูเหมือนว่าคุณปรีดี และคุณพูนศุข พนมยงค์ จะไม่ได้ลาโลกของเราแล้วไปอยู่ในเฉพาะปรโลก แต่ยังไปอยู่ในโลกไซเบอร์ ซึ่งวันเปิดตัวเวปไซต์ pridi-phoonsuk.org ที่ผ่านมา ฉันมีโอกาส(อันที่จริงเรียกว่าหาโอกาส เพราะฉันโดดงานไป) ได้ไปร่วมงานและฟังอภิปราย ซึ่งฉันยังไม่หายแฮงค์เหล้าแถมตื่นเกือบเที่ยงจึงต้องกุลีกุจอไปให้ทันฟังอภิปรายโดยมีเพียง บุหรี่และกาแฟประทังชีวิตตลอดบ่าย ร้ายไปกว่านั้นฉันดูเหมือนว่าจะนุ่งshotpants อยู่คนเดียว

สารภาพไว้ตรงนี้เลยว่า แม้ว่าจะเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ป.ตรี และศิษย์ ปัจจุบัน ป.โทก็ตาม (ซึ่งยังไม่จบสักที) ฉันรู้จัก ปรีดี พนมยงค์ น้อยมากและเป็นนามธรรมว่า เป็น 1 ในคณะราษฎร เป็นเหยื่อการเมืองของชนชั้นเจ้า และ เป็นผู้สถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ( ซึ่งชื่อธรรมศาสตร์(และการเมืองในขณะนั้น) มาจากวิชาที่ปรีดี ลงทะเบียนเมื่อยังเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นวิชาที่ไม่มีใครเค้าลงทะเบียนกันแล้ว)

....อันที่จริง ฉันรู้จักนกปรีดีมากกว่าเสียด้วยซ้ำ....

แต่จะพูดแล้ว นักศึกษาธรรมศาสตร์ และน่าจะรวมคนอื่นๆด้วยรู้จักปรีดีต่างกันไป แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ของปรีดีในตะละยุคสมัยตามบริบททางการเมือง ในยุคที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ ซึ่งน่าจะเป็นเวลาเดียวกับยุคมืดของธรรมศาสตร์ในการทำความรู้จักกับปรีดี พนมยงค์ เพราะตอนนั้นนักศึกษาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครก่อตั้งมหาลัย คุณชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยังคิดว่าคนสถาปนาธรรมศาสตร์ ถ้าไม่ใช่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพี บลาๆๆ ราชบุรีดิเรกฤทธิ์สักอย่าง ไม่ก็พระเจ้าบรมวงศ์เธอ บลาๆๆ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

เหมือนที่ คุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ได้พูดในงานว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 90 ปรีดี พนมยงค์ ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งอย่างชัดเจนและมากขึ้น เพียงแต่ในฐานะ คุณตาใจดี คนก่อตั้งธรรมศาสตร์และการเมือง คนรักชาติคนรักเจ้า ผู้เรียกร้องเอกราช

พูดง่ายๆคือ พอปรีดีตาย ไม่เพียงจะกลับมาดังอีกครั้งและมากขึ้น (เช่นเดียวกับคุณพูนศุข ที่ดังขึ้นทันทีที่ตายลง และถูกโยงกับการเมืองมากขึ้น ทั้งๆที่ปรีดีไม่ได้นำเรื่องการเมืองมาเล่าในบ้านมากนัก) ไม่เพียงแต่ระดับประเทศอย่าง รัฐบุรุษอาวุโส แต่ในระดับ international ฐานะบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์กรยูเนสโก

ว่าแต่ยูเนสโก รู้อะไรเกี่ยวกับ ปรีดี พนมยงค์ บ้าง??

ดูเหมือนว่าภาพใหม่ของปรีดีดูจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทางการเมือง “แบบไทยๆ” มากขึ้น มากกว่าจะเป็นบุคคลของหนึ่งในคณะราษฎร นักสังคมนิยม หนามยอกพระอุระของชนชั้นเจ้า รวมไปถึง แพะในคดีในหลวงอานันท์สวรรคต ทำให้ "ฆาตรกร" กลายไปเป็นคุณตาใจดีภายในหนึ่งทศวรรษ จนกระทั้งในทศวรรษต่อๆมา คุณตาใจดีถูกปลุกขึ้นมาให้สวมเสื้อแดง แล้วจับไปเปรียบเปรยกับทักษิณ ชินวัตรบ่อยๆในฐานะ “คนดีที่ไม่มีที่อยู่” ?? ขณะที่เมื่อเช้านี้ ปรีดีถูกพูดอีกครั้งในวันเกิดตัวเองโดยคนขวาจัด ด้วยภาพลักษณ์ของผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวอีกครั้ง อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข !! แต่ไม่ว่าจะกล่าวสักกี่ครั้งก็ไม่มี พระยาพหลพลพยุหเสนา !!! ฉันได้แต่นั่งลุ้นว่าต่อๆไป ปรีดีจะถูกพูดถึงยังไง ด้วยภาพลักษณ์แบบไหน

...บางที ในทศวรรษถัดไป ปรีดี พนมยงค์ อาจเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะ 1 ใน 50 หนุ่มsexyมีครอบครัว (ราศีพฤษภ) ที่ตายไปแล้วในนิตยสาร cleo...