วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550

เรื่องผีๆ



วันก่อนเจอผีที่บ้าน เป็นเงาๆใหญ่ๆยืนนิ่งๆ แปลกมะว่าทำไมผีถืงไม่มีการเคลื่อนไหว เหมือนผีที่ฝรั่งเจอ หรือเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ผีแต่ละท้องที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน





ฉํนไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำไงกับผีดี กลัวไหม กลัวสิ เพราะตั้งแต่เด็กๆจนโต ฉันถูกสื่อปลูกฝังให้กลัวผี เป็นตัวแทนของความไร้เหตุผล ที่สามารถdominateเราได้ ฉันโกหกผีไปว่า ฉันเป็นคริสต์ตักบาตรให้ไม่ได้ ฉะนั้นไปขอส่วนบุญที่อื่น

ฉันว่า ผีคือตัวแทนของสภาวะที่หาคำตอบและเหตุผลไม่ได้ ว่า มีจริงหรือไม่ รูปร่างยังไง ปรากฏตัวได้อย่างไร และทำไม เพื่ออะไร และควบคุมยังไง แล้วเราต้องเผ่น หรือ เผชิญหน้าดี ผีสำหรับฉันคือความไม่รู้ดังกล่าว นี่สิโคตรน่ากลัวเลย ฉันถึงกลัวผีไง

เขียนๆอยู่ก็เสียวสันหลัง ไม่เขียนต่อละ



วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ยาฝิ่นสีเหลือง


( อันนี้ส่งให้นิตยสาร ไปแล้วไม่รู้เค้าจะรับหรือเปล่า เหอๆ )

ขณะที่นั่งหน่ายในรถ ท่ามกลางจลาจรชะงักงันเอาดื้อๆกลางถนนราชดำเนิน ของเช้าวันอาทิตย์ ฉันกวาดสายตาไปมองหาต้นตอที่ทำให้รถติดอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ก็พบกับพลพรรคเสื้อเหลืองเหงื่อโทรมกายกึ่งวิ่งกึ่งเดินยักแย่ยักยันบนพื้นทางรถยนต์ ที่แท้รถติดเพราะขบวนเดินวิ่งเฉลิมพระเกียรติ กีดขวางจราจรนี่เอง

“ ทางเท้าไม่มีให้เดินกันรึไงยะ ”

ฉันบ่นอยู่ในรถลำพัง ก่อนที่จะฆ่าเวลาด้วยการชมสิงสาราสัตว์ประหลาดที่เรียงรายตามซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ที่ทุกตัวล้วนแต่มีอวัยวะเพศยื่นออกมาโค้งงอ มันจะเป็นเพศอื่นไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่เพศผู้

...ทำไมต้องเป็นตัวผู้ไม่ใช่ตัวเมีย ? เพศเมีย มันไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับรัฐชาติเลยรึไง ?
ขณะที่กำลังเพลิดเพลินอยู่จู๋คชสีห์ที่แสดงถึงสังคม ” พ่อเป็นใหญ่ ” ( patriarchy ) อยู่นั้นลูกกะตาดันไปสะดุดตากับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เด่นตระหง่านกลางถนนราชดำเนิน เบื้องหน้าฉัน อนุสาวรีย์ที่หวนให้ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่เสียเลือดเนื้อ เพราะพระมหากษัตริย์พระราชทานอธิปไตยแก่ประชาชน อย่างที่ท่องจำกันแต่เด็ก อนุสาวรีย์ประดับประดาด้วยธงเหลืองประทับลัญจกรพลิ้วไสวและถูกฉาบด้วยสีเหลืองลออจับแสงอรุณ เข้ากับตึกราบ้านช่อง 2 ข้างทาง ช่างเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆอย่างที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและองคมนตรี ให้สัมภาษณ์กับ นาย โคลัม เมอร์ฟี รองบรรณาธิการ Far Eastern Economic Review หลังเกิดรัฐประหารไม่ถึง 24 ชั่วโมง ฟังดูคุ้นๆเหมือน “ประชาธิปไตยแบบไทย” ของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ชอบกล

ถ้าจอมพล ป. พิบูลสงครามฟื้นคืนชีพมาเห็นอนุสาวรีย์ข้างหน้าฉัน คงจำไม่ได้แน่ๆว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ตัวเองเคยสั่งให้เริ่มสร้างไว้ เพราะมันไม่ได้มีสีไข่ไก่แบบนี้ แม้ว่าจอมพลคนนี้จะชอบไก่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะชอบสีไข่ไก่ที่อาบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยรึเปล่า เพราะสาเหตุที่สร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้เพื่อเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ที่ปวงชนได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคลขอคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านระบอบการปกครองที่กษัตริย์มีอำนาจอธิปไตยเพียงผู้เดียว ( แม้ว่าจอมพล ป. จะมีเหตุผลอื่นประกอบในการสร้างอนุสาวรีย์เช่น เพื่อต้องการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองให้กับรัฐบาลตนเองที่มาจากการรัฐประหารว่า ยังคงเป็นระบอบประชาธิปไตย )

เมื่อแรกสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยใน 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ก็ได้ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันเดียวกับวันชาติ ที่ถูกเปลี่ยนจากเดิมเป็นวันจักรี เพื่อแสดงถึงว่า ชาติ เป็นของประชาชน ไม่ใช่ ราชสมบัติ ขององค์ใดสถาบันใด หรือเป็นการรำลึกถึงพระราชกรณียกิจพระองค์ใด ทว่าชาติเป็นของประชาชน และวันที่ 24 มิถุนายนก็เป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประชาชนได้มีอำนาจอธิปไตย ( ตามทฤษฏี ) สักที

อย่างไรก็ตาม วันชาติ ( ใหม่ ) ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐเข้าด้วยกัน ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์ที่ผูกขาดกับกำเนิดหรือฐานันดร อย่างที่วันชาติ ( เก่า ) อย่างที่เคยมีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เห็นได้ชัดว่า การอภิวัฒน์โดยคณะราษฎร ได้พยายามสร้าง รัฐธรรมนูญ เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบใหม่ แทนที่ พระมหากษัตริย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบเก่า พร้อมยังสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ และเรียกระบอบการปกครองใหม่นี้ว่า “ระบอบรัฐธรรมนูญ” เป็นระบอบการปกรองที่มาจากราษฎร มาจากการปฏิวัติของคณะราษฎร ( คำว่า “คณะราษฎร” ถูกตั้งขึ้นโดย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับ “คณะเจ้า” แม้ว่าจะไม่มีการใช้คณะเจ้าอย่างเป็นทางการ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงว่า การอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับระบอบการปกครองเก่าที่ผูกขาดอยู่ที่ เจ้า ไม่ใช่ราษฎร ) เห็นได้ชัดในหลัก 6 ประการในการปกครองประเทศ ของคณะราษฎร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ จึงสถาปนา รัฐธรรมนูญขึ้นเหนือ พระมหากษัตริย์ ด้วยกระบวนทัศน์สากลที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เลวน้อยกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบการปกครองที่อิงกับความเชื่อซึ่งถือปฏิบัติมาแต่โบราณ ที่ผู้ปกครองมีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้มีอำนาจโดยสมบูรณ์ เหนือทุกคนในรัฐ จึงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฉะนั้นจึงไม่มีกลไกตรวจสอบการบริหารรัฐของผู้นำ หรือ การเคารพสิทธิของประชาชน

ย้อนกลับมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยข้างหน้าฉัน แม้ว่าจะดูล้มเหลวทางด้านศิลปะ ดูเป็นลานคอนกรีตใหญ่ๆที่ไม่มีจิตวิญญาณและความศักดิ์สิทธิ์ ต่างจากอนุสาวรีย์อื่นๆที่เป็นรูปคนที่สามารถยกมือไหว้หรือเอาธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาได้เสมือนศาลผีก็ตาม หากแต่อนุสาวรีย์นี้มีความหมายต่างๆแฝงเร้นในสัดส่วนและโครงสร้างในตัวของมันเอง อย่างน้อยก็มีรูปรัฐธรรมนูญจำลองที่ใหญ่กว่าของจริง ทอดอยู่บนพานแว่นฟ้า ซึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึง รัฐธรรมนูญมาจากเบื้องล่างส่งขึ้นให้เบื้องบนไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญจากเบื้องบนพระราชทานให้ประชาชนเบื้องล่าง เป็นการปกครองที่คณะราษฎรบางท่านเรียกว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ฉะนั้นต้องจับใส่พานนำทูลเกล้าถวายให้ลงพระปรมาภิไธยด้วยความเคารพ

หากมองในลักษณะของมุมสูง ( Bird’s Eyes View ) ซึ่งเป็นมุมที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในการใช้พื้นที่ ซึ่งนิยมใช้กันในรัฐบาล ทหาร นักวิชาการ จะพบว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกตั้งใจให้สร้างระหว่างกลางถนนราชดำเนินที่เชื่อมระหว่างพระบรมมหาราชวังของกษัตริย์ในระบอบเทวราชากับราชวังใหม่ของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อเป็นช่วงชิงความหมายของพื้นที่ ราชดำเนิน ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประกาศแสงยานุภาพของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจอันสมบูรณ์ ของรัชกาลที่ 5 ผู้เป็น”สยามินทร์” ที่แปลตามตัวอักษรว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือดินแดนสยาม

เมื่อล้มระบอบที่กษัตริย์มีอำนาจสมบูรณ์สูงสุดได้แล้ว การสร้างสัญลักษณ์ที่แสดงอำนาจเหนือกว่ากษัตริย์จึงถูกเลือกให้ผุดใจกลางถนนสัญลักษณ์อำนาจเก่า เป็นนัยว่าหากท่านพระราชดำเนินก็ต้องเบี่ยงอ้อม อำนาจราษฎร

พวกนิยมเจ้าจึงเกิดนึกหมั่นไส้แกมรกหูรกตา เลยทาสีเหลืองทับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มันขวางให้ดูเป็นส่วนหนึ่งของทาง “ ราชดำเนิน ”

การที่ประชาชนมีอำนาจปกครองชาติได้เองนั้น ก็มีล้มลุกคลุกคลานเหมือนกัน ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ส่วนใหญ่เป็นเพราะอำนาจเก่ายังคงแฝงตัวอยู่ในการปกครองของอำนาจใหม่ และคอยบ่อนเซาะอำนาจของประชาชนให้หวนคืนสู่อำนาจเก่าอย่างช้าๆ และพยายามเรียก “ ชาติ ” คืนสู่การครอบครองของอำนาจเก่า
การเปลี่ยนวันชาติเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ไม่เพียงแต่จะเบี่ยงเบนความหมายของชาติออกจากประชาชน ตัดขาดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐ แต่ยังเบี่ยงเบนความหมายของชาติไทยไปไว้รวมที่บุคคลเพียงบุคคลเดียว ไม่ใช่ที่สถาบันอย่างแต่ก่อน ( วันจักรี ) ไม่แปลกที่ชาติทั้งชาติจึงอร่ามไปด้วยสีเหลือง ทั้งเชื้อชาติที่เป็นตัวประชาชน และชาติที่เป็นพื้นที่อาณาเขต ตัวตนของชาติคือตัวตนของพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประหนึ่งสมมุติเทพ ฉะนั้นไม่มีใครสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะถือว่าเป็นเทพ หรือผีของสังคมบุพกาล ประเทศไทยจึงเป็นประเทศไม่กี่ประเทศที่หลงเหลืออยู่ที่ยังคงมีกฎหมายหมิ่นพระเดชานุภาพบังคับใช้ ท่ามกลางกระแสสากลที่เชื่อเรื่องความเสมอภาค

สีเหลืองถูกสร้างความหมายใหม่โดยบุคคลที่คิดถึงและหวงแหนอำนาจเก่า และเชื่อว่าอำนาจเก่าสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆอันเลวร้ายในชาติได้ สีเหลืองจึงถูกทำให้สูงค่ากว่าเดิมที่เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เป็นสีที่แสดงถึงกษัตริย์ในฐานะบุคคล ไม่ใช่ สถาบัน เพราะถ้าหากเป็นสถาบันสีที่ใช้ย่อมเป็นสีน้ำเงิน เพราะสถาบันนี้มีแต่คนเลือดสีน้ำเงิน

เหตุผลง่ายๆที่คนไทยส่วนใหญ่ใส่เสื้อเหลืองก็เพราะเรารักในหลวง เรารักชาติ เพราะคนไทยเรามองว่าชาติกับกษัตริย์เป็นของคู่กัน สีเหลืองถูกสถาปนาให้เป็นสีประจำชาติไทย ทั้งชาติที่เป็นรัฐ และชาติที่เป็นเชื้อชาติ ใครที่ไม่ใส่เสื้อเหลือง ยิ่งในวันจันทร์ ยิ่งไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่เชื้อชาติไทย เพราะไม่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ เท่ากับว่าไม่รักชาติบ้านเมือง

เห็นที่นักสังคมวิทยามานุษยวิทยาต้องเรียกคนไทยในไทยแลนด์เสียใหม่ว่า “ผู้ไทยเหลือง” เหมือนกับที่เรียกลาวโซ่งว่า “ผู้ไทดำ” เพราะนุ่งผ้าสีดำ

วันชาติที่ผ่านมาผู้ไทยเหลือง จึงใส่เสื้อเหลืองเพื่อไปเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 80 พรรษา ทั่งท้องสนามเหลือง..เอ้ย ! สนามหลวง ทุกคนต่างปลื้มปิติ บางคนความสุขใจล้นทะลักออกเป็นน้ำตา บ้างขนลุกขนพอง ต่างโห่ร้องสรรเสริญบุคคลที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ และที่พึ่งของพวกเขา

ใครหลายคนเคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้าย มีความทรงจำอันเจ็บปวด เคยผ่านเหตุการณ์ เดือนตุลา เดือนพฤษภา เหตุการณ์กรือแซะห์ ตากใบ เคยถูกปิดปาก ปิดตา คนรักถูกอุ้ม โรงเรียนโดนเผ่า ครูโดนยิงตาย หลายต่อหลายคนต้องเผชิญกับความยากจน เอารัดเอาเปรียบ ความทารุณ ถูกเลือกปฏิบัติ แพ้บอล เอนท์ไม่ติด ตกงาน โดนลงแขก เมียมีชู้ พ่อตายแม่ยายรังเกียจ หากแต่ความระทมในหัวกลับหลงลืมไปเสียฉิบทันทีที่ได้เข้าเฝ้า “ พระเจ้าอยู่หัว ”

เป็นการเสพสุขชั่วขณะเพื่อลืมความเจ็บปวดที่เคยประสบ เป็นการพึ่งพาทางใจ ท่ามกลางความสับสน หวาดกลัว รุนแรงของสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ในภวังค์และห้วงอารมณ์แห่งความสุขใจ เสมือนได้เสพยา
โธมัส ฮอบส์ พูดถูกว่า เมื่อใดที่สังคมบ้านเมืองวุ่นวาย เมื่อนั้นเราจะถวิลหากษัตริย์ บ้านเมืองไทยก็เช่นกัน กำลังป่วยไข้ เรื้อรัง และบอบช้ำ ด้วยพิษการเมือง การเอารัดเอาเปรียบ การแก่งแย่ง ความสับสนวุ่นวาย จึงต้องการบางสิ่งบางอย่างมาบรรเทารักษาความเจ็บปวด และทุกข์ตรม

ทว่ายานั้นกลับเป็นยาฝิ่น ไม่ได้ช่วยเยียวยารักษาให้หายขาด เป็นเพียงแค่การทำให้หลงลืมบาดแผล รอยช้ำ และทุกข์ตรมชั่วประเดี๋ยวประด๋าว และสิ่งนั้นก็คือคนเพียงตัวบุคคลที่เราน้อมรับมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวเยียวยา ให้เคลิ้มไปในห้วงปิติสุข ลืมความทรมานจากบาดแผลเท่านั้น ไม่ได้ช่วยสมานรอยแผล กลัดหนองให้แผลแห้งหรือป้องกันการติดเชื้อได้เลย หรือรักษาถูกโรค

อย่างที่สำนวนว่า “เกาไม่ถูกที่คัน”

ฝิ่นที่ว่าเป็นผลิบานเติบโตบนสถานการณ์อันหนาวเหน็บและเย็นชา เพื่อให้ประชาชนดื่มด่ำกับรสชาติของมัน หากวันใดต้นฝิ่นแห้งเหี่ยวเฉาตาย ปลูกใหม่ไม่ขึ้น ผู้เสพอาจถึงกับลงแดงตายก็เป็นได้

เมื่อไฟเหลืองดับลง ไฟเขียวก็กลับสว่างจ้า ฉันรีบบึ่งรถออกจากการเดินทางที่แน่นิ่งขณะหนึ่ง อย่างรวดเร็วเพื่อให้มีเวลาพอที่จะแต่งหน้าก่อนลงจากรถ เรื่องพวกนี้ทำฉันเสียเวลามามากแล้ว ฉันมองกระจกหลังเห็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย “ แบบไทยๆ ” อนุสาวรีย์ที่เป็นพยานว่าประชาชนมีอธิปไตยทว่าถูกปกคลุมด้วยสีเหลือง แข็งทื่ออยู่เบื้องหลัง ห่างไกลฉันออกไปทุกที

อนุสาวรีย์ที่เป็นสัญลักษณ์อำนาจของประชาชน อนุสาวรีย์ที่ผุดสง่ากลางถนนที่กีดขวางการดำเนินของราช อนุสาวรีย์ที่ประหนึ่งรอยแผลเป็นบนโฉมหน้าราชานิยม หากแต่ถูกทาทับด้วยสีเดียวกับตึกราบ้านช่อง2ข้างฝั่งถนน ให้กลมกลืนไปกับซุ้มเฉลิมพระเกียรติ สิ่งก่อสร้าง ในขณะที่กำแพงวัดพระแก้ว และศาลหลักเมืองยังคงสีขาวเอาไว้อย่างแต่ก่อน เพราะมันทำตัวให้สอดคล้องกับสีเหลืองโดยไม่ต้องทาสี

หากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือ บาดแผลของอำนาจกษัตริย์ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตและเฟื่องฟูถึงจุดสุดยอดในสมัยที่สร้างถนนราชดำเนิน สีเหลืองที่เอามาทาทับอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยก็คือคอนซิลเลอร์ที่ปกปิดริ้วรอยแผลเป็นนั้น