วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551

"เค้าเล่าว่า"


“ที่รัก.. เค้าบอกว่าหนังเรื่องนี้สนุกมากเลยนะ ไปดูกันไหม”
“แกรู้ไหม เขาเล่าว่าอีดาราคนนี้ดูใสๆเรียบร้อยแบบนี้นะ ตัวจริงน่ะ แรดจะตายชัก”
“นี่หล่อน... เค้าบอกว่า น้ำคลอโรฟิลล์ มันไม่ได้ช่วยให้ผิวดีขึ้นหรอกนะยะ”


ฉันมักได้ข้อมูลข่าวสารประเภทนี้อยู่เสมอ ไม่ใช่จากใครที่ไหนก็บรรดาคนรอบข้างฉันนี่แหละ ที่ไม่ว่าจะไปฟังใครเขาเล่ามาก็จะจำมาเล่าให้ฉันฟังทุกที ซึ่งพอจะเดาได้ว่า ตอนไปฟังมาก็จะข้อมูลที่ขึ้นประโยคด้วย
“เค้าบอกว่า...”


ฉันก็ไม่รู้ว่าสมควรจะเชื่อเพื่อนดีไหม แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่เชื่อถือและไว้ใจ แต่ไอ้เรื่องที่ไปฟังมาไม่รู้ว่าน่าเชื่อถือได้รึเปล่า เพราะ ”เขา” หรือ ”เค้า” คนนั้นเป็นใครก็ไม่รู้ อาจทีมวิจัยจากอีรีนอยส์ หรือ หมอผีในปาปัวนิวกีนี หรือบางที... ไม่มีตัวตน


การที่ไม่มีอะไรอ้างอิงมันจึงเป็นเรื่องที่ชวนให้ลำบากใจให้เชื่อถืออยู่ไม่น้อย


ถึงจะกระนั้นก็เถอะ การที่มีอ้างอิงก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไปในความรับรู้ของเรา เวลาทำรายงาน เขียนบทความจึงรู้สึกว่า พวกเชิงอรรถ บรรณานุกรม มันช่างวุ่นวาย เรื่องมาก หลายคนพาลคิดไปว่าเป็นความโก้เก๋และเป็นสิ่งตกค้างทางวัฒนธรรมตะวันตกหลังยุคล่าอาณานิคม อย่าแค่ให้เขียนเลย อ่านยังไม่อยากก่านด้วยซ้ำ


การที่ไม่มีอะไรอ้างอิง หรือแหล่งที่มา ความรู้จึงกลายเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือไม่จริง ตรวจสอบไม่ได้ว่าถูกหรือผิด หรืออย่างที่คนสมัยใหม่ชอบพูดว่า ”ไม่โปร่งใส”


ความรู้ประเภทจับต้องไม่ได้นี้ ฉันว่ามันช่างเหมาะเจาะกับสังคมชาวนาสังคมชาวพุทธอย่างของไทยเสียนี่กระไร ความรู้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ก็ขึ้นมาลอยๆด้วยตนเอง ไม่มีการอ้างอิง และไม่มีการจดบันทึก เป็นเพียงการท่องจำฟังตามกันมา กว่าจะจดบันทึกเป็นพระไตรปิฎกก็ล่อไปเกือบ 500 ปีหลังจากปรินิพพาน พระสงฆ์ที่ขึ้นธรรมาสน์เทศนาก็ไม่มีบทร่างเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อีกอย่างการปลูกไร่ไถนาเลี้ยงหมูดูหมาจึงไม่จำเป็นต้องรู้หนังสือ


เราจึงชอบที่จะเล่าจะฟังมากกว่าขีดๆเขียนๆเอง คนที่กล่าวสุนทรพจน์ได้โดยไม่มีสคริปจึงดูเจ๋งกว่าคนที่มีสคริปให้พูด เพราะการอ่านจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าพิสมัยและไม่ธรรมชาติ เสมือนไกลตัวออกไป


ทุกวันนี้แต่ละช่องทีวีจึงดกดื่นไปด้วยรายการที่ให้นักข่าวออกมาอ่านข่าวอ่านนิตยสารให้เราฟังทุกเช้า เพราะผู้ชมโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทฉันขี้เกียจที่จะเปิดอ่านหนังสือพิมพ์นิตยสารเอง ด้วยเหตุประการฉะนี้นิตยสารจึงต้องมีจุดขายและเรียกผู้อ่านด้วยภาพถ่ายแฟชั่นมากกว่าบทความข้างในข้างใน


ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีที่คนไทยยังไม่ลืม ”กำพืด” หรือพูดให้เสนาะหูหน่อยก็คือ ยังมีสำนึกรักษ์บ้านเกิด ท่ามกลางความพยายามถีบตัวเองออกจากสังคมการเกษตรสู่อุตสาหกรรม ระบบการศึกษาย้ายจากวัดมาสู่รัฐ เมืองหลวงที่รถติดเป็นอันดับต้นๆของโลกถูกพยายามแปรรูปให้เป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่นแถวหน้าของโลก ( ถึงขนาดเคยปิดถนนให้รถติดกว่าเดิมเพื่อเดินแบบอีกแน่ะ ) ที่ยังคงรักษากระบวนการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารความรู้แบบปากต่อปากเป็นมุขปาฐะ มากกว่าลายลักษณ์อักษร

เพราะฉะนั้นที่ ”เค้าบอกว่า” คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่ถึง 10 บรรทัด... ฉันจึงไม่กังวลอะไร