วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ใกล้ชิดประชาชน


วันก่อนฉันถามเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นอาจารย์สอนปรัชญาตะวันออกว่า ทำไมนรกต้องร้อนด้วย แล้วทำไมต้องเกี่ยวกับการลวกการเผาหรืออะไรก็ได้ที่อาศัยความร้อน
เขาให้คำตอบว่า “ก็คิดแบบวิทยาศาสตร์ดูสิ ก็ภายใต้พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิที่ร้อนกว่าและมีการเผาผลาญมหาศาลไง”

ฉันได้แต่พยักหน้าหงึกๆถึงความเป็นเหตุเป็นผลของมัน ....ว่าแต่ว่า นรกสวรรค์เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไรกัน…

สำหรับฉันแล้ว นรกสวรรค์และวิทยาศาสตร์ ต่างก็เป็นเรื่องไกลตัวฉันด้วยกันทั้งนั้น เพราะรู้สึกว่ามันอยู่ในวัดในห้องแลบมากกว่าจะมาตั้งอยู่ในบ้านฉัน

ยิ่งเรื่องวิทยาศาสตร์เข้าแล้วยิ่งไกลตัวเข้าไปใหญ่ เพราะเพิ่งจะมาได้ยินตอนเข้าโรงเรียนแต่เรื่องนรกสวรรค์ชั้นฟ้าผีเปรตเจตภูติฉันได้ยินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก

มาพักหลังๆพอได้ยินแนวคิด “กระทรวงวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ใกล้ชิดประชาชน” ทำให้ฉันใจชื้นขึ้น เพราะองค์ความรู้ที่อยู่บนหอคอยงาช้างจะได้ถูกสอยลงมาให้ทำความรู้จักเสียที หรืออย่างน้อยที่สุดเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะผูกขาดอยู่กับคนนุ่งชุดกาวน์ถือหลอดทดลอง จะได้กระจายมายังคนนุ่งกระโจงอกถือตะหลิวนอยู่แต่บ้านอย่างฉัน และพวก ไนตรัสออกไซด์ กรดซัลฟิวรัส โปรตอน อิเล็กตรอน หรือที่ชื่อแปลกๆจำยากพวกนี้จะได้มาเป็นสมาชิกใหม่ในชีวิตประจำวันของเราสักวัน

ว่าแต่ว่าวิทยาศาสตร์ยุคใหม่นี่มันเป็นยังไงกันหว่า

ฉันพอจะรู้ความหมายของวิทยาศาสตร์เฉยๆว่า “ความรู้” เพราะมันตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า science ซึ่งมาจากภาษาลาติน scientia ที่แปลว่าความรู้ และมันคำว่า “วิทยา” และ “ศาสตร์” ต่างก็แปลว่าความรู้เหมือนกัน แต่ไหงมีคนเอาไปอธิบายว่า วิทยาศาสตร์หมายถึงการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วรวบรวมเป็นความรู้ ได้ไงก็ไม่รู้

ส่วนวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จากที่จำขี้ปากนักวิชาการมาพอสรุปได้ว่า ยุคใหม่แห่งวิทยาศาสตร์อุบัติขึ้น หลังจากที่ กาลิเลโอ กาลิเลอี นักฟิสิกส์ชาวอิตาลี ออกมาพิสูจน์ว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาลอย่างที่ศาสนาบอกให้เชื่อ หลังจากนั้นเป็นต้นมา บรรดาวิทยา และ ศาสตร์ต่างๆที่เคยจำศีลเป็นเวลานานก็ถูกเปิดเผยและผลิตขึ้น เกิดความรู้ใหม่ๆมากมาย จนอะไรที่เรียกว่าใหม่แกะกล่องกลายเป็นของดี ทำให้เราต้องอัพเดทอยู่เสมอ ซึ่งรวมไปถึงวิทยาศาสตร์ด้วย

มาลองคิดดูแล้ววิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นความรู้ใหม่อะไร เพราะสมัยก่อนก็มีวิทยาศาสตร์เหมือนกันนะ แต่จะก่อนขนาดไหนไม่รู้ รู้แต่ว่าในสมัยกรุงธนบุรีก็ใช้คำนี้ในฐานะวิชาด้านคุณไสย เพราะถือว่าเป็นวิทยาและศาสตร์อย่างหนึ่ง

ขนาดบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทยก็ไม่ได้เป็นคนละคนกับบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หากจะมีการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วย พระเจ้าสร้างโลกภายใน 6 วันด้วยวจนะ บรรพบุรุษของเรา ชื่อ ปู่สังกะสาย่าสังกะสี หรืออุทกภัยน้ำท่วมเกิดมาจากปีนี้นาคให้น้ำหลายตัว เพราะต่างก็เป็นการอธิบายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ถูกมองว่าเป็นวิทยาและศาสตร์ที่เก่าเก็บและล้าสมัย ทว่าใกล้ชิดประชาชนนะเออ

อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีที่หน่วยงานราชการตั้งใจปฏิรูปวิทยาศาสตร์อย่างเอาจริงเอาจังให้เป็น “ยุคใหม่” จนทำให้ใกล้ชิดประชาชนได้เป็นผลสำเร็จ เพราะเมื่อวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาที่ผ่านมา ฉันเห็นคนแถวบ้านไปร่วมทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระเพื่ออุทิศกุศลผลบุญถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย กันแน่นโรงเรียนเชียว