วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

นาง กับ นางสาว


ก่อนจะเล่าเรื่องไร้สาระ ฉันขอแสดงความยินดีย้อนหลังกับนักเรียกร้องสิทธิสตรีทั้งหลาย ที่พยายามเรียกร้องจนสุดลิ่มทิ่มประตูจนเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อผู้หญิงเป็นผลสำเร็จ จนประเทศไทยแลนด์กล้าประกาศศักดาว่าเป็นชาติไทยทันสมัยชั้นแนวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ พัฒนากว่าประเทศอื่นๆที่เป็นประเทศโลกที่หนึ่ง

...ว่าแต่เป็นจริงอย่างที่เขาประกาศรึเปล่า ฉันไม่รู้...

มาเข้าเรื่องของฉันดีกว่า มีอยู่วันหนึ่งได้รับหนังสือเล่มบางๆจากเพื่อนสนิทที่ไปร้านหนังสือมา เป็นหนังสือ how to ชื่อ “มารยาทในการเข้าสังคม” มันหวังดีหรือมันอยากจะด่าฉันทางอ้อม ก็ไม่รู้
ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมจะต้องมีหนังสือ how to เข้าสังคมด้วย ในเมื่อเราก็เป็นสัตว์สังคม แม้จะมีนักวิชาการบางคนบอกว่าเราเป็นสัตว์ปัจเจกเพียงแต่ถูกทำให้เป็นสัตว์สังคมมาเป็นเวลาโกฏิปีก็ตาม แต่ถึงอย่างไร ในตอนนี้เราขาดสังคมไม่ได้จริงๆ

ถ้าจะพูดแบบง่ายๆก็คือในฐานะที่เป็นสัตว์ที่ปฏิเสธสังคมไม่ลงจริงๆ หนังสือมารยาทในการสังคม จึงเป็นคู่มือสำคัญยิ่งเพื่อเข้าใจถึงโครงสร้างสังคมและความคาดหวังของสังคมที่ตนอยู่ ที่สำคัญรู้จักตัวตนและสถานภาพของตนเองในฐานะสมาชิกของสังคมนั้นๆ ไม่อย่างนั้นคนพุทธจะอ่านไตรปิฏกไปทำไม และคริสเตียนจะอ่านไบเบิ้ลเพื่ออะไรกัน

ฉันจึงหยิบของฝากที่เพื่อนอุตส่าห์ซื้อมาให้ด้วยความปรารถนาดีประสงค์ร้าย พลิกอ่านไปมา ในหนังสือบอกว่าเมื่อไปงานศพ ให้พบเจ้าภาพแล้วแสดงความเสียใจ ( นี่ถ้าไม่บอกฉันคงไปหัวเราะรดหน้าเจ้าภาพแล้วมั้ง ) อ่านแล้วคล้ายๆคำแนะนำบนกล่องอาหารแช่แข็งว่า “โปรดอุ่นก่อนรับประทาน” ไม่มีผิด

แต่ดูเหมือนว่ามีหลายอย่างที่ฉันไม่รู้ ที่ไม่รู้เพราะไม่รู้เหตุผลว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้ เช่น ในงานเลี้ยงบุฟเฟต์ ถึงเวลาอาหารต้องให้สุภาพสตรีเข้าตักอาหารก่อน ถ้าโต๊ะจีนก็ต้องบริการสุภาพสตรี และไม่ว่าอะไรต้องช่วยเหลือ สุภาพสตรี เด็กและคนชราเสมอ และที่สำคัญต้องพูดจาให้เกียรติสุภาพสตรีอยู่เสมอ

ในหนังสือไม่ได้บอกว่าทำไมต้องทำแบบนั้นต้องทำแบบนี้ แต่ดูเหมือนว่า ผู้หญิงที่ในหนังสือเรียกว่า “สุภาพสตรี” นั้นเหมือนบุคคลในภาวะพึ่งพิงที่ต้องรับการประคบประหงมมากกว่าจะเป็นมนุษย์ปรกติผู้กระทำอะไรได้เอง

พอเปิดมาถึงบทที่ว่าด้วยการแนะนำให้รู้จักกันต้องแนะนำผู้อ่อนวัยกว่าให้รู้จักผู้สูงวัยกว่า ผู้มียศต่ำกว่าให้ผู้มียศสูงกว่า แม้จะฟังดูทะแม่งๆแต่ฉันก็พอเข้าใจดีว่าสังคมที่เราอยู่มันช่างเต็มไปด้วยศักดินา การไว้ยศถือชนชั้น

แต่ที่เป็นความรู้ใหม่และชวนตะลึงพรึงเพริศคือ ควรแนะนำหญิงที่ยังไม่ได้สมรสให้รู้จักผู้หญิงที่สมรสแล้ว
ดังนั้นการแต่งงานจึงไม่ต่างการเลื่อนขั้นทางสังคม เป็นการเปลี่ยนผ่านชนชั้นเช่นเดียวกับการบวชเรียนในสมัยก่อนหรือการเรียนให้จบอุดมศึกษาในปัจจุบัน เพื่อถีบตัวเองจากชนชั้นล่างขึ้นสู่อีกระดับหนึ่งที่เป็นชนชั้นพิเศษกว่า แต่ตำแหน่งของผู้หญิงจะสูงต่ำไม่ได้อยู่ที่การงานหรือการศึกษา แต่ต้องอาศัยการมีหรือไม่มีซึ่งผัว ( หรือจะเรียกให้สวยหรูคือสามี อันแปลว่า เจ้าของหรือเจ้านาย ) เป็นองค์ประกอบ

หญิงโสดหลายคนจึงต้องเผชิญกับสถานภาพของตนเองเป็นปัญหาที่ใครๆต่างก็บอกว่ามันช่างเหงาเปล่าเปลี่ยวเหี่ยวแห้งเป็นแตงเฉาตาย ยิ่งเกินวัยสาวแล้วแต่ยังเป็น”นางสาว”อยู่ ยิ่งดูน่าสงสารและเป็นเป้านินทาของสังคม เพราะมันไม่มีเกียรติทางสังคม

ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อของหญิงหม้ายกลับไปเป็นนางสาวได้ และ ผู้หญิงสามารถเลือกได้ว่าจะใช้คำนำหน้าชื่ออะไรเมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว ฉันจึงยินดีเฉพาะกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี