วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2551

ขอพูดถึงแม่บ้าง


ท่ามกลางความวิปริตของอุณหภูมิอากาศและบรรยากาศการเมือง คริสต์มาสอีฟที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยสนุกนัก จำได้ว่าคืนนั้นฉันกับเพื่อนต่างร่อนร่ายเริงระบำกับแสงเสียงเช่นเคย และเมื่อคืนค่ำแห่งความสนุกใต้ลูกบอลดิสโก้ระยับตาดับวูบลง พวกเราจึงแยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน ขณะที่ฉันจอดรถแวะริมทางเพื่อไปอ้วกริมฟุตบาทด้วยฤทธิ์แอลกอฮอร์ สายตาเหลือบไปสะดุดกับซุ้มดอกไม้ประดับด้วยแสงไฟแพรวพราว ห้อมล้อมปูนปั้นผู้หญิงชุดขาวกำลังอุ้มเด็กตัวน้อยด้วยใบหน้าสงบเสงี่ยมหากแต่สง่างาม
ในช่วงเวลาที่อะไรๆ ก็ “เพื่อพ่อ” การได้เห็นซุ้มประดับประดาเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ ช่างดูสวยแปลกตา ไม่เกล่อเกลื่อนซ้ำซาก ช่วยให้หายเลี่ยนเอียนขึ้นมาทันที
ผู้หญิงที่อุ้มเด็กข้างหน้าฉันเป็นที่รู้กันทั่วโลกคือพระแม่มารีย์กับพระเยซู ต่อให้ไม่รู้ภาษีภาษาก็พอเดาออกว่าเป็นแม่กำลังอุ้มลูกด้วยความรักไม่ใช่แม่กำลังเอาเด็กไปทิ้งถังขยะอย่างที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ของเดือนเดียวกัน
“ อนาถ! พบศพทารกในถังขยะ คาดแม่ใจร้าย คลอดเองก่อนเอามาทิ้ง ” โดยตำรวจ “คาดว่าแม่เด็กน่าจะทำคลอดมาเองจากที่อื่นแล้วมาทิ้งศพเด็กไว้”
นั่นน่ะสิ... มีแต่แม่ใจร้ายใจยักษ์ใจมาร อำมหิตเท่านั้นแหละที่ทิ้งลูกในถังขยะ แม่จิตใจดีงามเขาไม่ทำกับเด็กน้อยตาดำๆ แบบนี้หรอก มันเป็นธรรมชาติของผู้หญิงอยู่แล้วที่จะมี ”ความเป็นแม่” แม่ที่ฆ่าลูกมันต้อง วิปริตผิดธรรมชาติแน่ๆ ใจคอถึงได้โหดเหี้ยมฆ่าได้กระทั่งลูกของมันเอง ขนาดหมามันเป็นสัตว์เดรัจฉานมันยังรักลูกตัวเองเลย อย่าให้รู้เชียวนะว่าใคร กูจะเอาหินปาให้ คงมีเสียงในใจคนหลายคนสะท้อนดังออกมาหลังจากอ่านข่าวและคงดังมากพอที่จะกลบเสียงในใจใครหลายคนที่ตั้งคำถามว่าที่เด็กมันตายห่าไปเนี่ยะ พ่อมันหายหัวไปไหน พ่อมันเองหรือเปล่าที่เป็นคนเอาลูกมาทิ้ง
เป็นที่รู้กันสากลว่าผู้หญิงสามารถตั้งท้อง คลอดลูก ให้น้ำนมได้ เป็นเพราะอวัยวะร่างกายที่ผู้หญิงมี ตามธรรมชาติซึ่งแตกต่างจากผู้ชายที่ขาดพร่องอวัยวะดังกล่าว ด้วยเหตุนี้การเลี้ยงดูลูกจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงไปโดยปริยาย
ร่างกายของผู้หญิงจึงผูกติดกับ “ความเป็นแม่” เห็นได้จากที่เรามักเรียกหน้าอกของผู้หญิงว่า “นม” “เต้านม” เพื่อให้ภาพถึงอวัยวะที่มีน้ำนมให้ดื่มกิน รวมไปถึงการเรียกอวัยวะเพศหญิงที่ใช้คำว่า “ช่องคลอด” เพื่อแสดงภาพของร่างกายผู้หญิงที่ทำหน้าที่คลอดบุตร และคำว่า “มดลูก” ที่หมายถึงพื้นที่ที่เด็กทารกจะเจริญเติบโตในครรภ์ ซึ่งคำว่า “มด” มีความหมายลักษณะเดียวกับคำว่า “หมอ” ซึ่งมักใช้คู่กันว่า “หมอมด” มดลูกจึงหมายถึงการดูแลรักษาลูกในอีกความหมายหนึ่ง จะพบว่าการสร้างคำเพื่อนิยามอวัยวะแสดงเพศของผู้หญิงทั้งหน้าอก และอวัยวะเพศสะท้อนให้เห็นถึงร่างกาย เพศสรีระโดยธรรมชาติของผู้หญิงที่ถูกโยงสภาพของการให้กำเนิดเลี้ยงดูลูกทำให้มโนทัศน์ของผู้ใช้ภาษาเกี่ยวกับเพศหญิงถูกขังอยู่ในกรอบของการเป็นแม่มากกว่าจะมองผู้หญิงในแง่มุมอื่น ซึ่งตรงกันข้ามกับเพศชายการนิยาม “เพศสรีระ อวัยวะแสดงเพศ” ไม่มีนัยยะถึงการเป็นพ่อเลี้ยงดูลูก มีแต่เพียงนัยยะความยิ่งใหญ่อย่าง “เจ้าโลกหรือมังกร”
ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ว่ากันว่าการมีลูกของผู้หญิงนั้นถูกยกย่องว่าเป็นอำนาจของผู้หญิง เป็นสภาวะศักดิ์สิทธิ์ที่มีเฉพาะผู้หญิงที่สามารถสืบพันธุ์ ( reproduction ) ให้กับมนุษยชาติได้ สามารถผลิตทรัพยากรที่สำคัญได้ เด็กที่เกิดมาถือว่าเป็นสมบัติของผู้หญิง ผู้หญิงจึงมีความสำคัญอย่างมากในสังคมทั้งพื้นที่สาธารณะ ถึงขนาดเป็นหัวหน้าชนเผ่า เป็นบูชารินีผู้เชื่อมต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีบทบาทมากในด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป พวกผู้ชายเริ่มมีความรู้ความเข้าใจว่าเด็กที่เกิดมาไม่ได้เกิดมาจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของผู้หญิง หากแต่เกิดมาจากการกระทำของตนร่วมด้วย รวมทั้งผู้ชายที่ออกไปล่าสัตว์หาอาหารเริ่มรู้จักการสะสมอาหารทำให้มีบทบาทมากขึ้น เริ่มครอบครองทรัพย์สมบัติรวมไปถึงผู้หญิงและลูก ตัวตนของผู้หญิงในฐานะแม่มีคุณค่าน้อยลง ด้วยวาทกรรมที่ว่าการสืบพันธุ์เป็นความสามารถของผู้ชาย ลูกที่เกิดออกมาจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ชาย กลายเป็นสถาบันครอบครัวที่แม่และลูกขึ้นตรงต่อพ่อและสถาบันครอบครัวนี้เองได้พยายามสร้างตัวตนของผู้หญิงคือเป็นเพียงแม่และเมีย ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ชายที่มีบทบาทบนพื้นที่สาธารณะมาก
ยิ่งในสังคมทุนนิยม บทบาทแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเปรียบอะไรไม่ได้เลยเมื่อเทียบคุณค่าของงานผู้ชายที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว เพราะแม่ไม่ใช่แหล่งผลิตทางเศรษฐกิจเหมือนแต่ก่อน เป็นเพียงการผลิตในความหมายเชิงสัญลักษณ์ เช่น ความอบอุ่น ความรัก งานของแม่ในบ้านจึงไม่ใช่งานเพราะไม่ได้เงิน จึงดูด้อยค่าและด้อยเกียรติ ผิดกับงานของผู้ชาย
และก็สังคมทุนนิยมนี่แหละที่ชอบขีดเส้นพื้นที่ส่วนตัวแยกจากพื้นที่สาธารณะ การทำหน้าที่แม่จึงทำให้ผู้หญิงตัดขาดจากโลกภายนอกมากขึ้น เมื่อหน้าอกหน้าใจผู้หญิงเป็นเรื่องส่วนตัวต้องสงวน ปกปิด แม่ที่ต้องควักเต้าให้ลูกดูดนมจึงไม่มีที่ใดเหมาะไปกว่าที่บ้าน
การใช้นามสกุลมีขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงหน้าที่สืบพันธุ์เป็นของเพศชายไม่ใช่เพศหญิง ลูกชายที่เกิดมาจะเป็นผู้สืบสายตระกูลผู้ชาย แต่ถ้าได้ลูกสาวพ่อแม่บางคู่ถึงกลับกังวลว่าจะไม่มีใครสืบสายตระกูลได้ แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีการบังคับให้ผู้หญิงที่แต่งงานเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามี อย่างไรก็ดีสังคมก็มองว่าเป็นการสืบสายตระกูลแค่ตัวอักษรเท่านั้น และเพื่อเป็นการรับประกันว่าลูกที่เกิดออกมานั้นเป็นสายพันธุ์ผู้ชายจริงๆ ผู้หญิงจึงมีกฎเหล็กที่ต้องรักษาพรหมจรรย์
แม้ว่าบทบาทแม่จะด้อยค่ากว่าพ่อเยอะ แต่บางสังคมก็เชื่อว่าการเป็นแม่คือหน้าที่ของมนุษย์ที่เกิดมาเป็นผู้หญิง ในไบเบิ้ลกล่าวว่า ผู้หญิงทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นแม่ เพื่อคลอดลูก เลี้ยงดูลูก ฉะนั้นการที่ผู้หญิงไม่เลี้ยงดูลูก รวมไปถึงผู้หญิงไม่มีลูกหรือมีลูกไม่ได้จึงไม่ใช่ผู้หญิงที่สมบูรณ์ แปลกประหลาด ไม่ยอมใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ตามที่พระเจ้าได้สรรสร้างขึ้นมา รูปพระแม่มารีย์ยิ่งเป็นการผลิตซ้ำถึงความคิดที่ว่าผู้หญิงควรมีลูก เลี้ยงดูฟูมฟักลูกประหนึ่งแม่พระที่เลี้ยงดูพระบุตรของพระบิดา บางสังคมพยายามอุ้มชูว่าการได้เป็นแม่คนเป็นสิ่งประเสริฐ สร้างบุญคุณกุศลใหญ่หลวง
คิดๆ ไปแล้ว ศาสนาพุทธก็ไม่ค่อยปรากฏวาทกรรมเกี่ยวกับแม่ชัดเจนมากเท่าศาสนาคริสต์ ไม่รู้เป็นเพราะพระพุทธเจ้ากำพร้าแม่แต่เด็กเลยขาดสำนึกเรื่องแม่หรือฉันไม่ศึกษาให้ละเอียดกันแน่
รูปปั้นพระแม่มารีย์อุ้มพระบุตรแห่งพระเจ้า เป็น “Reproduction” อย่างหนึ่งในสังคม ไม่ใช่ ”reproduction” ที่หมายถึง “การสืบพันธุ์ ” แต่หมายถึง “การผลิตซ้ำ ” ผลิตซ้ำวาทกรรมที่ผู้หญิงต้องเป็นแม่คน ต้องเลี้ยงลูก ดูแลไม่ไกลห่าง ซึ่งทำให้แม่ห่างไกลพื้นที่สาธารณะออกไปทุกที แม้ว่าผู้หญิงเป็นคนตั้งท้อง คลอด และเลี้ยงดู ทว่าลูกที่เกิดมาก็ไม่ใช่ของผู้หญิงแต่เป็นทรัพย์สมบัติของผู้ชาย เหมือนกับที่พระเยซูเป็นพระบุตรของพระบิดา นางมารีย์เป็นแค่ทางส่งผ่านอำนาจพระบิดาเท่านั้น
คำว่า “reproduction” ที่หมายถึง “ การสืบพันธุ์ ” จึงเน้นความหมายไปที่เพศชายมากกว่าเพศหญิง เพราะการสืบสายพันธุ์วงศ์ตระกูลไม่ให้สูญหาย ไม่ให้เชื้อยีนส์ของปู่ทวดสูญหายไป ไม่ให้นามสกุลของโคตรเหง้ามันถูกลบเลือนไปจากสำมะโนครัวประชากร
ในเมื่อสังคมให้พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเจ้าของการผลิต เป็นผู้สืบเผ่าพันธุ์ เป็นคนต้องเลี้ยงดูครอบครัวในขณะที่แม่ถูกบีบให้อยู่แต่ในบ้าน การที่เห็นศพเด็กในถังขยะหรือลอยอืดในคลองหลังบ้าน เราควรลงโทษใครดี
...แม่ที่ไม่ใช่เจ้าของลูก หรือ พ่อที่เป็นเจ้าของลูกแต่ไม่รู้จักการเลี้ยงดูลูกเลยแม้แต่น้อย...