ในที่สุด ฉันก็มีสถานภาพเฉกเท่ากับสมณะสามเณรนางชีรวมไปถึงคนบ้า หรืออย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็สถานภาพเช่นเดียวกับ ชายแต่งองค์ทรงเครื่องลิเกระยิบระยับแพรวพราวแต่ไม่มีฉลองพระบาท … เพราะว่าไม่ต้องจ่ายค่ารถเมล์
ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายขึ้นรถเมล์ฟรีของรัฐบาลที่ออกมาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้กับ ( วิกฤตประชานิยมของและ ) ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนกับรายจ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น ( อันนี้จำขี้ปากนักข่าวมา แปลไม่ออกหรอกว่าเงินเฟ้อเงินอืดหมายถึงอะไร )
ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายขึ้นรถเมล์ฟรีของรัฐบาลที่ออกมาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้กับ ( วิกฤตประชานิยมของและ ) ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนกับรายจ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น ( อันนี้จำขี้ปากนักข่าวมา แปลไม่ออกหรอกว่าเงินเฟ้อเงินอืดหมายถึงอะไร )
บนรถขสมก. ที่ฉันโหนอยู่จึงแน่นขนัดผิดกว่าแต่ก่อน ต่างคนต่างเบียดเสียดยัดเยียดในที่แคบๆ ทั้งอบทั้งอ้าวอวลไปด้วยกลิ่นน้ำหอมกลิ่นเต่า กลิ่นเหงื่อ กลิ่นเปรี้ยว กลิ่นสาบ คลุ้งตลบในพาหนะที่ปูพื้นด้วยไม้กระดานเก่าๆหลังคาทำจากโลหะโทรมๆ กับเครื่องยนต์ที่ขู่คำรามอยู่ตลอดเวลาแข่งกับเสียงกรรโชกของรถรารอบข้าง
ซึ่งเป็นบรรยากาศที่คุ้ยเคยแต่ไม่อาจคุ้นชิน สำหรับคนที่เกิดมาในชนชั้นมีอันจะกิน ( ถ้าประหยัด ) ในสังคมเมือง ที่ต้องพึ่งพิงรถโดยสารในการเดินทางจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเลือกและคุ้นชินกับพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นทักษะในการใช้รถใช้ถนนที่ว่าจะต้องข้ามถนนอย่างไรถ้าวันดีคืนดีรถติดมากๆ โชเฟอร์เกิดเปลี่ยนเส้นทางขึ้นมาเองเสียดื้อๆ หรืออาศัยจังหวะติดไฟแดงปล่อยผู้โดยสารตามยถากรรมกลางถนนใหญ่ หรือ จะหลับอย่างไรขณะที่โชเฟอร์บีบแตรเรียกลูกค้าอย่างเกรี้ยวกราดทุกป้ายรถเมล์ โดยไม่สะดุ้งตื่นเกือบตลอดทาง หรือแม้แต่จะนั่งตรงไหนโดยไม่ต้องสละเบาะนั่งให้คนแก่ เด็ก คนท้อง เพราะถ้าคนนั่นรถเมล์บ่อยๆจะรู้ว่า ที่นั่งใกล้ประตูและริมทางเดินเป็นพื้นที่สีแดง เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งต่อการสูญเสียเบาะนั่ง
เพราะว่าการโหนรถเมล์นั้นเป็นสภาวะยอมจำนนที่ไม่ใช่เพียงจำนนต่อ มโนธรรม วาทกรรม เศรษฐกิจ ( เพราะถ้ามีตังค์คงซื้อรถเก๋งขับ โบกแท็กซี่สบายใจเฉิบไปแล้ว ) แต่มันเป็นสภาวะยอมจำนนต่อการเลือกไม่ได้ชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเลือกไม่ได้แม้กระทั่ง วันนี้ต้องรอรถเมล์นานขนาดไหน มันจะมาตอนไหน มันจะจอดรับกูไหม ขึ้นไปจะมีที่นั่งไหม รถจะเสียกลางครันหรือไม่ หรือแม้แต่คนขับมาจะจอดลงตรงป้ายกูหรือเปล่า
ดังนั้นการอาศัยบริการรถเมล์จึงเป็นเรื่องของ “ความเสี่ยงโชค” และ “ดวง” ล้วนๆ เพราะเราไม่สามรถกำหนดได้ว่ารถเมล์จะมีมาตอนไหน ดวงดีได้ขึ้นเร็วได้นั่ง โชคร้ายอาจไม่มีที่ให้นั่งหรือต้องนั่งกับคนตัวเหม็น แต่อาจซวยกว่านั้นคือเจอเด็กช่างกลเข้ามายิงกันในรถเมล์ หรือ โชเฟอร์ขับเร็วส่งผู้โดยสารไม่ครบ 32 ก่อนถึงป้าย
ที่ขับกันเร็วๆส่วนหนึ่งก็เพราะ การขนส่งมวลชนเต็มไปด้วยรถเมล์รัฐ รถเมล์ร่วม ( ซึ่งได้สัมปทาน ทำหน้าที่แทนรัฐที่ไม่มีเงินผลิตสายรถเมล์ ) ที่บางเส้นทางก็มีสายที่ทับซ้อนกัน ต่างก็ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งลูกค้า ทว่าการแข่งขันกันไม่ใช่ต่างคนต่างพัฒนาระบบคุณภาพ แต่เป็นการแข่งความเร็วแย่งลูกค้า คันไหนถึงเร็วกว่าคันนั้นได้ลูกค้าไปครอง
และแน่นอนที่สุด ผู้โดยสารเห็นอะไรมาก่อนก็ต้องขึ้นคันนั้นเป็นเรื่องปรกติ เพราะว่าถ้ารออีกคนไม่รู้จะมาชาติไหน ( ยิ่งวันไหนต้องขึ้นสายนั้นยิ่งไม่ค่อยมีให้เห็น แต่พอวันไหนไม่ต้องขึ้น เสือกมากันเยอะแยะเต็มไปหมด )
ฉันจึงไม่เคยรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจเวลาอยู่บนท้องถนน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออาศัยบริการรถเมล์ประเภท ” เขียวนรก ” อันที่จริงชื่อนี้ฉันไม่ได้คิดเองหรอกนะ เพียงแต่เรียกตามคนอื่นเขามาอีกทีเหมือน แดงครีม น้ำเงินขาว ไม่รู้ว่าใครเป็นคนตั้งสมญา แต่ไม่เคยแปลกใจว่าทำไมถึงเรียกแบบนั้น เพราะประสบการณ์นั่งรถเมล์เขียวไม่เคยแยกออกจากหมวดหมู่ประสบการณ์เฉียดตายทุกครั้ง
เพื่อนฉันเคยขึ้นรถเมล์เขียวแถวรามคำแหงกลางดึก คนขับรถเมล์ท่าทางหิวเบียร์จัด ใช้โอกาสติดไฟแดงลงไปซื้อมา 2 – 3 กระป๋องขึ้นมาซด แล้วให้กระเป๋ารถเมล์มาขับแทน ท่ามกลางความประหวั่นพรั่นพรึงของผู้โดยสาร ยังดีที่คนขับยังพอมีสติพอจะแยกออกได้ว่าใครเป็นกระเป๋าใครเป็นผู้โดยสาร เพราะกระเป๋าเล่นใส่กางเกงเจเจ เสื้อเชิ้ตน้ำเงิน คีบรองเท้าแตะเป็นยูนิฟอร์ม ซึ่งโชคดีที่ฉันไม่เคยเจอคนขับกินเหล้าเมายา อย่างมากก็แค่สูบบุหรี่ขณะขับ ให้ดมคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ยังไม่พอแถม นิโคติน ให้กูอีก
แต่พอหนีควันพิษขึ้นมารถปรับอากาศ เหมือนหนีเสือปะจระเข้จริงๆ เพราะมันปรับอากาศจริงๆ แต่ปรับให้ร้อนขึ้น จนฉันนึกว่าเป็นรถเมล์ติดฮีตเตอร์เครื่องแรกของประเทศไทย ฉันเลยต้องนั่งรถปรับอากาศจนหลังแฉะตูดแฉะตั้งแต่ท่าเตียนยันแฮปปี้แลนด์
แม้ว่าจะมีสติกเกอร์แปะตามหน้าต่างให้แนะนำร้องเรียนการบริการรถประจำทาง แต่เบอร์นั้นไม่เคยมีผู้รับสายเลยแม้ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม
เรื่องเล่า ( บ่น ? ) เกี่ยวกับรถเมล์ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร ปรับอากาศหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นอมตะมีมาให้ฟังไม่รู้จบไม่รู้หน่าย และเช่นเดียวกัน... ไม่รู้จักปรับปรุง
ด้วยประการฉะนี้ฉันจึงไม่ปีติโสมนัสกับนโยบาย รถเมล์ฟรี เพื่อประชาชน เพราะบางทีรถเมล์ที่เพื่อประชาชนอาจไม่ใช่รถเมล์ที่ฟรี แต่เป็นรถเมล์ที่มีระบบ คุณภาพ ปลอดภัย พอที่ผู้โดยสายสารวางใจในชีวิตบนท้องถนนและรู้สึกว่ายินดีจ่ายค่าบริการแม้ว่าจะขึ้นราคาสักกี่ครั้งก็ตาม
แม้จะเข้าใจดีว่าการแก้ปัญหารถเมล์เป็นเรื่องที่หินมากสำหรับทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล “หมัก” รัฐบาล “หมม” หรือ รัฐบาล “หมกเม็ด” เพราะมันล้วนเป็นปัญหาที่สัมพันธ์กับการจราจร งบประมาณ ปริมาณพลังงานที่มีอย่างจำกัด ผลประโยชน์ทับซ้อน หรืออะไรต่อมิอะไรเยอะแยะตาแป๊ะไก่ และที่สำคัญไม่เคยมีผู้บริหารรัฐคนไหนเข้าใจปัญหาเกี่ยวกับขนส่งมวลชนโดยตรง เพราะต่างก็ไม่เคยเดินทางเข้าสภาด้วยรถเมล์
ถ้าไม่ใช่รถเก๋งก็เป็นรถถัง…
หลังจากชำแรกกายผ่านฝูงชนที่แน่นขนัด ก้าวลงจากรถขสมก.ฟรีด้วยเสื้อผ้าอันยับย่นชื้นแฉะไปด้วยเหงื่อของตัวเองและคนแปลกหน้า ฉันหันกลับไปมองสภาพรถที่เพิ่งลงมากำลังทะยานตัวด้วยความเร็วสูงพร้อมพ่นควันดำปิ๊ดปี๋ออกจากท่อไอเสีย พ่วยพุ่งฟุ้งอากาศจนแทบมองไม่เห็นข้อความที่เขียนไว้ข้างหลังว่า “รถเมล์ฟรี เพื่อประชาชน”
ทำเอามองแวบแรกนึกว่าป้ายโฆษณาหาเสียงพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพราะ Font มันดูคุ้นตาชอบกล...