วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ฮวงจุ้ยดี ชีวีมีสุข


ฉันโตมาในสมัยเพลง”หนูอยากเป็นอะไร”ของพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ และพอโตมาแล้วก็ได้ฟังเพลง”ชีวิตลิขิตเอง”ของพี่เบิร์ดอีก จนทำเอาเป็นสาวมั่น ไม่เชื่อโชคชะตากรรมเวร อยากจะทำอะไร หวังอะไรไว้ก็ทำตามอย่างที่หวังไว้ ไม่เชื่อว่าจะมีพรหมมาลิขิต โชคชะตาเวลาเกิดมากำหนดว่าตกฟากเวลานี้โตไปจะทำอะไรรุ่ง เกิดวันเดือนปีอะไร ธาตุใด ราศีไหน ชงกับอะไร ควรขับรถสีใด ใส่เสื้อสีอะไรสุขภาพจะดี ยิ่งเรื่องน้ำ(ฮวง)กับลม(จุ้ย) มีผลอย่างไรต่อการครองเรือนและดำรงชีวิตอย่างฮวงจุ้ยจึงยิ่งเป็นเรื่องที่ไกลตัวออกไปเช่นเดียวกับ ลักจั๊บ สี่ข่วย อีจิ้ง โหวงเฮ้ง


อันที่จริง ไม่ใช่แค่ไม่รู้ ขนาดสะกดผันวรรณยุกต์ยังไม่ค่อยจะถูกเลย


ดังนั้นจึงไม่เคยคำนึงเวลาจะนอนว่าต้องหันหัวไปทิศไหน เวลาเลือกคบคนก็ไม่เคยคำนวณว่าถึงราศีปีเกิดว่าชงไม่ชง เพราะเวลาเมาเราก็นอนได้ไม่ว่าจะสถานที่ใดหรือกับใคร… รึไม่จริง
หมอดูคนหนึ่งบอกว่า ที่ฉันยากจนข้นแค้นอยู่ถึงทุกวันนี้เป็นเพราะผมทรงหน้าม้าของฉัน ที่ไม่ยอมเซ็ทผมเปิดหน้าผากรับทรัพย์ตามหลักโหงวเฮ้ง
สงสัยหมอดูคงไม่รู้จักม้า อรนภา เพราะชีมีรายได้มากกว่าหมอตั้งหลายเท่า ทั้งที่มีทรงผมแบบนั้น
แต่บอกว่าไม่เชื่อเลยก็ดูจะโม้ไปนิด เพราะเวลาเห็นคนไปดูดวง ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ไหว้พระไหว้เจ้าทั้งพุทธฮินดูจีน ก็ไปด่าว่างมงาย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่พอเวลามีคนทักว่าดวงกำลังตกก็ขี้ขึ้นสมอง คอยระแวงระวังจนไม่กล้าออกจากบ้าน ใครบอกให้ไปไหว้อะไรไปไหว้หมด แล้วค่อยอ้างทีหลังว่า “ทำไว้ไม่เสียหาย” หรือ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”
ในฐานะที่เป็นมนุษย์สัตว์ที่มีระบบสมองซับซ้อน จึงต้องคิดอะไรซับซ้อน ไม่ได้ตัดสินแบบหัวก้อยหรือขาวดำได้ เพราะฉะนั้น เราจึงมักได้ยินคำติดปากว่า “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง”
ที่ไม่เพียงแต่จะบอกว่า กำลังตกอยู่ในสถานการณ์อิหลักอิเหลื่อ พิพักพิพ่วนที่จะตอบว่ากูเชื่อเรื่องพรรค์นี้หรือไม่ แต่ยังบอกว่า “กูก็ไม่เชื่อตัวเองเหมือนกันว่ากูเชื่อหรือไม่เชื่อ”
แต่ด้วยประสบการณ์ตรงกับชีวิต ที่ตกล่องปล่องชิ้นกับเศรษฐีแก่นายหนึ่ง หลังจากที่ฉันมะงุมมะงาหราหามานานเกือบครึ่งค่อนชีวิต
เขาปลูกบ้านให้ฉันอยู่หลังหนึ่งที่ต่างจังหวัด หลังจากที่ทนฉันบ่นสภาพมลพิษ และรถติดของเมืองหลวงไม่ไหว แม้ว่าเขาจะลงทุนสร้างบ้านหลังนี้ให้ฉันแต่ก็เป็นไปตามความแนะนำของซินแสแทบทุกคำ แม้ฉันจะท้วงด้วยเหตุผลร้อยแปดก็ไม่เป็นสำเร็จ เพราะหนึ่ง เงินเขา สอง เขาให้เหตุผลว่า ถ้ามันไม่ดีจริงก็คงไม่อยู่ได้มานานเป็นพันๆปี และเป็นสากล ยอมรับกันเป็นทั่วโลก
แม้ว่าฉันไม่ใช่ racism ก็ตาม แต่การที่จะทำใจเชื่อด้วยเหตุผลที่ว่ามีมาตั้งแต่โบราณ ยิ่งเป็นความเชื่อร่วมสมัยกับความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่เท้าขนาดไม่กี่นิ้วนั้น น่าหลงใหลได้ปลื้มกับจนต้องรัดซะแทบเดินไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ทำใจลำบากอย่างยิ่ง


แล้วที่บอกว่าเป็นสากลทั่วโลกน่ะ ก็เล่นตั้งรกรากไปทั่วโลกซะขนาดนั้น


แต่ถึงอย่างไร ฉันก็ได้บ้านหลังน้อยท่ามกลางหมู่มวลพฤกษานานาพันธุ์สมใจ ข้างหน้ามีลำธารขนาดใหญ่ ข้างหลังเป็นทิวเขาเขียวขจี ซึ่งซินแสบอกว่า ถูกหลักฮวงจุ้ย ใครอยู่บ้านหลังนี้จะมีแต่ความสุข เจริญรุ่งเรือง มีโชคลาภ ผัวเมียจะอยู่กันยืดแก่เฒ่า ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร .... ท่าจะจริงอย่างที่ซินแสว่าคู่รักจะอยู่กันยืด

ก็จะให้หนีไปไหนได้ล่ะคะ หน้าบ้านเป็นภูเขาหนีไปก็กลัวตะเข้ จะลากไปกิน ปีนเขาหนีไปหลังบ้าน ก็กลัวเสือคาบไปโซ้ย

เห็นทีฉันต้องเชื่อฮวงจุ้ยเสียแล้ว...

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

รถเมลฟรี เพื่อ(พลัง)ประชาชน


ในที่สุด ฉันก็มีสถานภาพเฉกเท่ากับสมณะสามเณรนางชีรวมไปถึงคนบ้า หรืออย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็สถานภาพเช่นเดียวกับ ชายแต่งองค์ทรงเครื่องลิเกระยิบระยับแพรวพราวแต่ไม่มีฉลองพระบาท … เพราะว่าไม่ต้องจ่ายค่ารถเมล์

ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายขึ้นรถเมล์ฟรีของรัฐบาลที่ออกมาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้กับ ( วิกฤตประชานิยมของและ ) ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนกับรายจ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น ( อันนี้จำขี้ปากนักข่าวมา แปลไม่ออกหรอกว่าเงินเฟ้อเงินอืดหมายถึงอะไร )

บนรถขสมก. ที่ฉันโหนอยู่จึงแน่นขนัดผิดกว่าแต่ก่อน ต่างคนต่างเบียดเสียดยัดเยียดในที่แคบๆ ทั้งอบทั้งอ้าวอวลไปด้วยกลิ่นน้ำหอมกลิ่นเต่า กลิ่นเหงื่อ กลิ่นเปรี้ยว กลิ่นสาบ คลุ้งตลบในพาหนะที่ปูพื้นด้วยไม้กระดานเก่าๆหลังคาทำจากโลหะโทรมๆ กับเครื่องยนต์ที่ขู่คำรามอยู่ตลอดเวลาแข่งกับเสียงกรรโชกของรถรารอบข้าง

ซึ่งเป็นบรรยากาศที่คุ้ยเคยแต่ไม่อาจคุ้นชิน สำหรับคนที่เกิดมาในชนชั้นมีอันจะกิน ( ถ้าประหยัด ) ในสังคมเมือง ที่ต้องพึ่งพิงรถโดยสารในการเดินทางจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเลือกและคุ้นชินกับพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นทักษะในการใช้รถใช้ถนนที่ว่าจะต้องข้ามถนนอย่างไรถ้าวันดีคืนดีรถติดมากๆ โชเฟอร์เกิดเปลี่ยนเส้นทางขึ้นมาเองเสียดื้อๆ หรืออาศัยจังหวะติดไฟแดงปล่อยผู้โดยสารตามยถากรรมกลางถนนใหญ่ หรือ จะหลับอย่างไรขณะที่โชเฟอร์บีบแตรเรียกลูกค้าอย่างเกรี้ยวกราดทุกป้ายรถเมล์ โดยไม่สะดุ้งตื่นเกือบตลอดทาง หรือแม้แต่จะนั่งตรงไหนโดยไม่ต้องสละเบาะนั่งให้คนแก่ เด็ก คนท้อง เพราะถ้าคนนั่นรถเมล์บ่อยๆจะรู้ว่า ที่นั่งใกล้ประตูและริมทางเดินเป็นพื้นที่สีแดง เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งต่อการสูญเสียเบาะนั่ง

เพราะว่าการโหนรถเมล์นั้นเป็นสภาวะยอมจำนนที่ไม่ใช่เพียงจำนนต่อ มโนธรรม วาทกรรม เศรษฐกิจ ( เพราะถ้ามีตังค์คงซื้อรถเก๋งขับ โบกแท็กซี่สบายใจเฉิบไปแล้ว ) แต่มันเป็นสภาวะยอมจำนนต่อการเลือกไม่ได้ชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเลือกไม่ได้แม้กระทั่ง วันนี้ต้องรอรถเมล์นานขนาดไหน มันจะมาตอนไหน มันจะจอดรับกูไหม ขึ้นไปจะมีที่นั่งไหม รถจะเสียกลางครันหรือไม่ หรือแม้แต่คนขับมาจะจอดลงตรงป้ายกูหรือเปล่า

ดังนั้นการอาศัยบริการรถเมล์จึงเป็นเรื่องของ “ความเสี่ยงโชค” และ “ดวง” ล้วนๆ เพราะเราไม่สามรถกำหนดได้ว่ารถเมล์จะมีมาตอนไหน ดวงดีได้ขึ้นเร็วได้นั่ง โชคร้ายอาจไม่มีที่ให้นั่งหรือต้องนั่งกับคนตัวเหม็น แต่อาจซวยกว่านั้นคือเจอเด็กช่างกลเข้ามายิงกันในรถเมล์ หรือ โชเฟอร์ขับเร็วส่งผู้โดยสารไม่ครบ 32 ก่อนถึงป้าย

ที่ขับกันเร็วๆส่วนหนึ่งก็เพราะ การขนส่งมวลชนเต็มไปด้วยรถเมล์รัฐ รถเมล์ร่วม ( ซึ่งได้สัมปทาน ทำหน้าที่แทนรัฐที่ไม่มีเงินผลิตสายรถเมล์ ) ที่บางเส้นทางก็มีสายที่ทับซ้อนกัน ต่างก็ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งลูกค้า ทว่าการแข่งขันกันไม่ใช่ต่างคนต่างพัฒนาระบบคุณภาพ แต่เป็นการแข่งความเร็วแย่งลูกค้า คันไหนถึงเร็วกว่าคันนั้นได้ลูกค้าไปครอง

และแน่นอนที่สุด ผู้โดยสารเห็นอะไรมาก่อนก็ต้องขึ้นคันนั้นเป็นเรื่องปรกติ เพราะว่าถ้ารออีกคนไม่รู้จะมาชาติไหน ( ยิ่งวันไหนต้องขึ้นสายนั้นยิ่งไม่ค่อยมีให้เห็น แต่พอวันไหนไม่ต้องขึ้น เสือกมากันเยอะแยะเต็มไปหมด )

ฉันจึงไม่เคยรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจเวลาอยู่บนท้องถนน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออาศัยบริการรถเมล์ประเภท ” เขียวนรก ” อันที่จริงชื่อนี้ฉันไม่ได้คิดเองหรอกนะ เพียงแต่เรียกตามคนอื่นเขามาอีกทีเหมือน แดงครีม น้ำเงินขาว ไม่รู้ว่าใครเป็นคนตั้งสมญา แต่ไม่เคยแปลกใจว่าทำไมถึงเรียกแบบนั้น เพราะประสบการณ์นั่งรถเมล์เขียวไม่เคยแยกออกจากหมวดหมู่ประสบการณ์เฉียดตายทุกครั้ง

เพื่อนฉันเคยขึ้นรถเมล์เขียวแถวรามคำแหงกลางดึก คนขับรถเมล์ท่าทางหิวเบียร์จัด ใช้โอกาสติดไฟแดงลงไปซื้อมา 2 – 3 กระป๋องขึ้นมาซด แล้วให้กระเป๋ารถเมล์มาขับแทน ท่ามกลางความประหวั่นพรั่นพรึงของผู้โดยสาร ยังดีที่คนขับยังพอมีสติพอจะแยกออกได้ว่าใครเป็นกระเป๋าใครเป็นผู้โดยสาร เพราะกระเป๋าเล่นใส่กางเกงเจเจ เสื้อเชิ้ตน้ำเงิน คีบรองเท้าแตะเป็นยูนิฟอร์ม ซึ่งโชคดีที่ฉันไม่เคยเจอคนขับกินเหล้าเมายา อย่างมากก็แค่สูบบุหรี่ขณะขับ ให้ดมคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ยังไม่พอแถม นิโคติน ให้กูอีก

แต่พอหนีควันพิษขึ้นมารถปรับอากาศ เหมือนหนีเสือปะจระเข้จริงๆ เพราะมันปรับอากาศจริงๆ แต่ปรับให้ร้อนขึ้น จนฉันนึกว่าเป็นรถเมล์ติดฮีตเตอร์เครื่องแรกของประเทศไทย ฉันเลยต้องนั่งรถปรับอากาศจนหลังแฉะตูดแฉะตั้งแต่ท่าเตียนยันแฮปปี้แลนด์

แม้ว่าจะมีสติกเกอร์แปะตามหน้าต่างให้แนะนำร้องเรียนการบริการรถประจำทาง แต่เบอร์นั้นไม่เคยมีผู้รับสายเลยแม้ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม

เรื่องเล่า ( บ่น ? ) เกี่ยวกับรถเมล์ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร ปรับอากาศหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นอมตะมีมาให้ฟังไม่รู้จบไม่รู้หน่าย และเช่นเดียวกัน... ไม่รู้จักปรับปรุง

ด้วยประการฉะนี้ฉันจึงไม่ปีติโสมนัสกับนโยบาย รถเมล์ฟรี เพื่อประชาชน เพราะบางทีรถเมล์ที่เพื่อประชาชนอาจไม่ใช่รถเมล์ที่ฟรี แต่เป็นรถเมล์ที่มีระบบ คุณภาพ ปลอดภัย พอที่ผู้โดยสายสารวางใจในชีวิตบนท้องถนนและรู้สึกว่ายินดีจ่ายค่าบริการแม้ว่าจะขึ้นราคาสักกี่ครั้งก็ตาม

แม้จะเข้าใจดีว่าการแก้ปัญหารถเมล์เป็นเรื่องที่หินมากสำหรับทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล “หมัก” รัฐบาล “หมม” หรือ รัฐบาล “หมกเม็ด” เพราะมันล้วนเป็นปัญหาที่สัมพันธ์กับการจราจร งบประมาณ ปริมาณพลังงานที่มีอย่างจำกัด ผลประโยชน์ทับซ้อน หรืออะไรต่อมิอะไรเยอะแยะตาแป๊ะไก่ และที่สำคัญไม่เคยมีผู้บริหารรัฐคนไหนเข้าใจปัญหาเกี่ยวกับขนส่งมวลชนโดยตรง เพราะต่างก็ไม่เคยเดินทางเข้าสภาด้วยรถเมล์
ถ้าไม่ใช่รถเก๋งก็เป็นรถถัง…

หลังจากชำแรกกายผ่านฝูงชนที่แน่นขนัด ก้าวลงจากรถขสมก.ฟรีด้วยเสื้อผ้าอันยับย่นชื้นแฉะไปด้วยเหงื่อของตัวเองและคนแปลกหน้า ฉันหันกลับไปมองสภาพรถที่เพิ่งลงมากำลังทะยานตัวด้วยความเร็วสูงพร้อมพ่นควันดำปิ๊ดปี๋ออกจากท่อไอเสีย พ่วยพุ่งฟุ้งอากาศจนแทบมองไม่เห็นข้อความที่เขียนไว้ข้างหลังว่า “รถเมล์ฟรี เพื่อประชาชน”

ทำเอามองแวบแรกนึกว่าป้ายโฆษณาหาเสียงพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพราะ Font มันดูคุ้นตาชอบกล...